ผลของโปรแกรมการวางแผนจำหน่ายต่อความสามารถในการจัดการอาการหอบเฉียบพลันของผู้ป่วยโรคหืด ที่มารับบริการแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉินภายใต้เหตุการณ์ความไม่สงบของพื้นที่ชายแดนภาคใต้
ขนิษฐา นาคะ, ณัฏฐิกา แซ่แต้*, สุดศิริ หิรัญชุณหะ
Yala Hospital, Yala, 95000, Thailand
บทคัดย่อ
การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการวางแผนจำหน่ายต่อความสามารถในการจัดการอาการหอบเฉียบพลันของผู้ป่วยโรคหืดที่มารับบริการแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉิน ภายใต้เหตุการณ์ความไม่สงบของพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ผู้ป่วยโรคหืดที่มีอาการหอบเฉียบพลันและเข้ารับการรักษาในแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึง ธันวาคม พ.ศ. 2550 จำนวน 64 ราย สุ่มเข้ากลุ่ม โดยกลุ่มที่เข้ารักษาวันที่เลขคี่เป็นกลุ่มควบคุม วันที่เลขคู่เป็นกลุ่มศึกษา เครื่องมือที่ใช้ดำเนินการวิจัย คือ โปรแกรมการวางแผนจำหน่ายเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามความสามารถในการจัดการอาการหอบเฉียบพลันและแบบบันทึกการกลับมาตรวจรักษาซ้ำภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งผ่านการทดสอบความเที่ยงโดยการทดสอบซ้ำ ได้ค่าเท่ากับ 0.80 คะแนนเฉลี่ยของความสามารถในการจัดการอาการหอบเฉียบพลันระหว่างกลุ่มทดสอบโดยใช้สถิติทีอิสระ และวิเคราะห์การกลับมาตรวจรักษาซ้ำภายใน 48 ชั่วโมง ใช้สถิติไค-สแคว์ผลการวิจัย พบว่า คะแนนเฉลี่ยความสามารถในการจัดการอาการหอบเฉียบพลันของกลุ่มศึกษาที่ได้รับโปรแกรมการวางแผนจำหน่ายสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญสำคัญทางสถิติ (p<0.001) ส่วนร้อยละของการกลับมาตรวจรักษาซ้ำภายใน 48 ชั่วโมงของกลุ่มศึกษาน้อยกว่ากลุ่มควบคุม (ร้อยละ 28.1 และ 81.3) (p<0.05)ผลการวิจัยครั้งนี้ สามารถใช้เป็นแนวทางการพัฒนาโปรแกรมวางแผนจำหน่ายแก่ผู้ป่วยโรคหืดที่เหมาะสมภายใต้เหตุการณ์ความไม่สงบของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
ที่มา
สงขลานครินทร์เวชสาร ปี 2552, September-October ปีที่: 27 ฉบับที่ 5 หน้า 359-368
คำสำคัญ
Asthmatic patients, Discharge planning program, Self management, การจัดการอาการด้วยตนเอง, ผู้ป่วยโรคหืด, โปรแกรมการวางแผนจำหน่าย