คุณภาพชีวิตและปัจจัยทางจิตสังคมของผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน ในโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จังหวัดสมุทรสงคราม
จิณณพัต ธีรอภิศักดิ์กุล*, พีรพนธ์ ลือบุญธวัชชัย
Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน โดยปัจจัยทางจิตสังคม ได้แก่ ภาวะวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ความสัมพันธ์และหน้าที่ครอบครัว การปรับตัว และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งวิธีการศึกษา: ศึกษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ในแผนกผู้ป่วยนอกคลินิกเบาหวาน โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งแต่เดือนกันยายน-ตุลาคม ปี พ.ศ.2551 จำนวน 395 ราย โดยการตอบแบบสอบถามทั้งหมด 5 ชุด ได้แก่ 1)แบบสอบถามส่วนบุคคลและการเจ็บป่วย 2)แบบสอบถามคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อฉบับภาษาไทย 3)แบบสอบถามอาการวิตกกังวลและอาการซึมเศร้าในโรงพยาบาลฉบับภาษาไทย 4) แบบสอบถามความสัมพันธ์และหน้าที่ในครอบครัว 5)แบบสอบถามการปรับตัวและการแก้ไขปัญหาความคัดแย้ง วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยจิตสังคม ข้อมูลส่วนบุคคลและการเจ็บป่วยกับคุณภาพชีวิต โดยใช้การทดสอบไคสแควร์และวิเคราะห์ความถดถอยลอจิสติก เพื่อหาปัจจัยทำนายคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยผลการศึกษา: คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลินส่วนใหญ่ (ร้อยละ 86.8) อยู่ในระดับปานกลาง ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิต ได้แก่ ภาวะวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า การปรับตัวและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ความสัมพันธ์และหน้าที่ของครอบครัว เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ จำนวนรายได้ ระยะเวลาการเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวาน อาการทางกายของโรคเบาหวานที่รบกวน ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ผลการวิเคราะห์ความถดถอยลอจิสติก พบว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตที่ดี ได้แก่ การไม่มีภาวะวิตกกังวล การปรับตัวและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ดี ความสัมพันธ์และหน้าที่ของครอบครัวที่ดี การศึกษาสูงกว่าระดับประถมศึกษา และการไม่มีอาการอ่อนเพลียไม่มีแรงสรุป: คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 86.8) อยู่ในระดับปานกลาง ปัจจัยทางจิตสังคมเป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน การเสริมสร้างให้ผู้ป่วยเบาหวานมีทักษะการแก้ปัญหา มีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลในครอบครัว สามารถปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและลดภาวะวิตกกังวลได้จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานดีขึ้น
ที่มา
วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2552, April-June ปีที่: 54 ฉบับที่ 2 หน้า 185-196
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Non-insulin dependent diabetes mellitus (NIDDM), Psychosocial factors, ปัจจัยทางจิตสังคม, เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน