ประสิทธิภาพของการฝึกความจำด้วยกิจกรรมตามหลักปรัชญามอนเตสซอรี่ในผู้สูงอายุสมองเสื่อมระยะเริ่มแรก
กัลยพร นันทชัย*, คำแก้ว ไกรสรพงษ์, รวิวรรณ นิวาตพันธุ์
Department of Psychiatry Faculty of Medicine, Chulalongkorn University
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบคะแนนความจำของผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมระยะเริ่มแรกกลุ่มที่ฝึกความจำตามหลักปรัชญามอนเตสซอรี่กับกลุ่มควบคุมวิธีการ: การวิจัยนี้เป็นแบบกึ่งทดลองใช้รูปแบบ Solomon four group design ศึกษาในผู้สูงอายุที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางละมุง กลุ่มตัวอย่างเลือแบบเฉพาะเจาะจง คัดกลุ่มตัวอย่างด้วยแบบทดสอบสภาพสมองเบื้องต้นฉบับภาษาไทย Mini Mental Status Exam-Thai 2002 (MMSE-T 2002) และคัดแยกผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าออกจากภาวะสมองเสื่อมด้วยแบบวัดภาวะซึมเศร้าสำหรับผู้สูงอายุไทย จำนวน 40 คน สุ่มแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 2 กลุ่มและกลุ่มควบคุม 2 กลุ่ม กลุ่มละ10 คน เข้าร่วมกิจกรรมการฝึกความจำตามหลักปรัชญามอนเตสซอรี่ที่รวบรวมโดยผู้วิจัย เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม digit span และ digit symbol ในแบบทดสอบความสามารถทางเชาวน์ปัญญาของผู้ใหญ่ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติที่ใช้ทดสอบ คือ t-test และ one-way ANOVAผลการศึกษา: กลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม มีค่าเฉลี่ยคะแนน digit span และ digit symbol หลังจากการฝึกความจำ 4 สัปดาห์ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และค่า mean ของคะแนนในกลุ่มทดลองเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุม ผลการทดสอบความแตกต่างค่าเฉลี่ยคะแนนความจำระหว่างกลุ่มทั้ง 4 กลุ่ม หลังการฝึกความจำและระยะติดตามผลรวม 3 ครั้ง พบว่าค่าเฉลี่ยคะแนน digit span ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ค่าเฉลี่ยคะแนน digit symbol แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนมากกว่ากลุ่มควบคุม จากวิธี LSDสรุป: ค่าเฉลี่ยคะแนนความจำในกลุ่มทดลองเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมหลังการฝึกความจำมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และผลการทดสอบระหว่างกลุ่มในระยะติดตามผล 12 สัปดาห์ ค่าเฉลี่ยคะแนนกลุ่มทดลองมากกว่ากลุ่มควบคุม จึงควรนำกิจกรรมฝึกความจำนี้ไปใช้กับผู้สูงอายุทั่วไปเพื่อป้องกันและชะลอความจำเสื่อมในระยะยาว
ที่มา
วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2552, April-June ปีที่: 54 ฉบับที่ 2 หน้า 197-208
คำสำคัญ
Dementia, Memory scores, Memory training, Montessori Philosophy -based activities, การฝึกความจำ, กิจกรรมตามหลักปรัชญามอนเตสซอรี่, คะแนนความจำ, สมองเสื่อม