ผลของโปรแกรมส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะของตนเองต่อพฤติกรรมสุขภาพและระดับความดันโลหิตของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
จรรจา สันตยากร, ชมนาด วรรณพรศิริ, ทวีศักดิ์ ศิริพรไพบูลย์, ปาริชาติ กาญจนพังคะ*
Lablae Hospital, Lablae, Uttaradit 53130, Thailand. E-mail address: pari_mui@hotmail.com
บทคัดย่อ
                การส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะของตนเอง เป็นปัจจัยที่สำคัญจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ตระหนักถึงความสำคัญของการมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ซึ่งการรับรู้สมรรถนะของตนเองมีความสัมพันธ์สูงกับการเปลี่ยนแปลงและการคงอยู่ของพฤติกรรม การวิจัยครั้งนี้มีจุดหมายเพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะของตนเองต่อพฤตกรรมสุขภาพ และระดับความดันโลหิตของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มารักษาที่ศูนย์สุขภาพชุมชน ตำบลทุ่งยั้ง จังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 50 คน สุ่มเข้ากลุ่มทดลอง 25 คน กลุ่มควบคุม 25 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะตนเอง รวม 4 ครั้ง ครอบคลุมพฤติกรรมสุขภาพ ด้านความรับผิดชอบต่อสุขภาพ ด้านกิจกรรมทางกาย ด้านโภชนาการ ด้านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ด้านพัฒนาจิตวิญญาณ และด้านการจัดการกับความเครียด ร่วมกับการส่งจดหมายกระตุ้นเตือนการปฏิบัติตัว และการเยี่ยมบ้าน กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามตามพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวานตามแนวคิดของเพนเตอร์ หลังจากกลุ่มทดลองได้เข้าโปรแกรมการส่งเสริมการเรียนรู้สมรรถนะตนเองแล้วเก็บข้อมูลหลังการทดลองทันที หลังการทดลอง 4 สัปดาห์ และหลังการทดลอง 8 สัปดาห์ หลังการทดลองผลการวิจัยพบว่า ภายหลังการทดลองทันทีและหลังการทดลอง 4 สัปดาห์ กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมสุขภาพโดยรวมสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สำหรับความดันโลหิต พบว่า ภายหลังการทดลองทันที และหลังสิ้นสุดการทดลอง 4 สัปดาห์ ไม่มีความแตกต่างกัน แต่ภายหลังการทดลอง 8 สัปดาห์ กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยระดับความดันโลหิต ค่าบน และค่าล่าง ต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า  โปรแกรมการส่งเสริมการับรู้สมรรถนะของตนเองต่อพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมีประสิทธิผลทำให้เพิ่มการรับรู้สมรรถนะของตนเอง และส่งผลให้พฤติกรรมสุขภาพดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
ที่มา
วารสารมหาวิทยาลัยนเรศวร ปี 2552, January-April ปีที่: 17 ฉบับที่ 1 หน้า 63-73
คำสำคัญ
โรคความดันโลหิตสูง, Health behaviors, Patients with hypertension, Self efficacy promotion program, พฤติกรรมสุขภาพ, โปรแกรมการส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะของตน