คุณภาพชีวิตและภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการผ่าตัดเต้านมในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร, ภูมรินทร์ มาลารัตน์*
Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University, Bangkok 10330, Thailand
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิต ภาวะซึมเศร้า และปัจจัยที่เกี่ยวข้องในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการผ่าตัดเต้านมในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์กลุ่มตัวอย่าง ผู้ป่วยหญิงจำนวน 203 ที่ได้รับการคัดเลือก ณ แผนกผู้ป่วยนอกศัลยกรรม แผนกเคมีบำบัด และ แผนกรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2551วิธีการวิจัย ผู้เข้าร่วมการศึกษาทำการตอบแบบสอบถาม 4 ชุด ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบสอบถามคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อ (WHO QUALITY OF LIFE – BREF - THAI, WHO QOL-BREF-THAI) 3) แบบสอบถาม ภาวะซึมเศร้า (Health-Related-Self-Report, HRSR 4) แบบสอบถามสนับสนุน ทางสังคม (The Personal Resource Questionnaire, PRO 85 part II) ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS แสดงภาวะซึมเศร้าคุณภาพชีวิต เป็นค่า อัตราส่วน และร้อยละ และการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยโดยใช้ไคสแควร์,One - Way ANOVA, t-test, Multiple Regression โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติเท่ากับ 0.05ผลการศึกษา ผู้เข้าร่วมการศึกษาเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพศหญิง อายุโดยเฉลี่ย 48.63 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในระยะที่ 2 ของมะเร็งเต้านม ได้รับการผ่าตัดในช่วง 3 – 6 เดือน มากที่สุด และได้รับการรักษาวิธีเคมีบำบัดร่วมกับการผ่าตัด จากอาการข้างเคียงของการรักษาพบอาการแขนบวม และเบื่ออาหารมากที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่า คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่อยู่ระดับปานกลาง และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตคือ อาชีพ และผลข้างเคียงจากการรักษาที่ได้รับคือ อาการปากแห้ง ท้องผูก อ่อนเพลีย และเป็นแผลเรื้อรังในกระพุ้งแก้ม สามารถร่วมกันพยากรณ์คุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และพบว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ไม่มีภาวะซึมเศร้า โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า คืออาการข้างเคียงจากการรักษาที่ได้รับ คืออาการข้อไหล่แข็งหรือข้อไหล่ติด สามารถร่วมกันพยากรณ์ภาวะซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05สรุป ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการผ่าตัดเต้านมในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะซึมเศร้า สำหรับปัจจัย ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตได้แก่ อาชีพ และ ผลข้างเคียงจากการรักษาที่ได้รับสำหรับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า คืออาการข้างเคียงจากการรักษาที่ได้รับคือ อาการข้อไหล่ติด หรือ ข้อไหล่แข็ง
ที่มา
จุฬาลงกรณ์เวชสาร ปี 2551, May-June ปีที่: 92 ฉบับที่ 3 หน้า 205-216
คำสำคัญ
Depression, Quality of life, คุณภาพชีวิต, Breast cancer, ภาวะซึมเศร้า, มะเร็งเต้านม