การวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผลของยา amikacin แบบให้วันละครั้ง เปรียบเทียบกับการแบ่งให้วันละ 2 ครั้ง ในการรักษา Febrile neutropenia ในผู้ป่วยเด็กที่ได้รับยาแคมีบำบัด
Jamaree Teeratakulpisarn, จุฬาภรณ์ ลิมวัฒนานนท์*, พนิดา ธนาวิรัตนานิจ, ภพ โกศลารักษ์, สุรพล เวียงนนท์, สุอร ชัยนันท์สมิตย์Faculty of Pharmaceutical Sciences, Khon Kaen University
บทคัดย่อ
การศึกษาต้นทุนและประสิทธิผลในการรักษาภาวะ febrile neutropenia ในเด็กที่ป่วยเป็นมะเร็ง ซึ่งกำลังได้รับยาเคมีบำบัดในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ด้วย amikacin ร่วมกับ cloxacilin โดยเปรียบเทียบวิธีบริหาร amikacin ระหว่างการให้วันละครั้งกับการแบ่งให้วันละ 2 ครั้ง ด้วยการเก็บข้อมูลด้านต้นทุนร่วมกับข้อมูลด้านประสิทธิผล โดยใช้การศึกษาในรูปแบบ randomized, controlled trial ใช้การวิเคราะห์ต้นทุนทางตรงภายใต้มุมมองของผู้ให้บริการสุขภาพ ด้วยการคำนวณค่าใช้จ่ายแบบ bottom up แล้วเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มโดยอาศัยตัวแบบทางสถิติ generalized linear model ซึ่งคำนึงถึงการแจกแจงข้อมูล ด้านค่าใช้จ่ายที่มักไม่เป็นไปตามปกติ โดยมีการควบคุมความแตกต่างระหว่างกลุ่มในด้านเพศ อายุ ภาวะ leukemia และ จำนวน neutrophil ของผู้ป่วยเมื่อเริ่มเข้าศึกษา และใช้การวิเคราะห์ประสิทธิผลแบบ intent-to-treat โดยพิจารณาจากอัตราการตอบสนองต่อการรักษา ผลการศึกษาพบว่า ระยะเวลาที่ใช้ amikacin ในผู้ป่วยแต่ละรายแบบวันละครั้งใกล้เคียงกับแบบการแบ่งให้วันละ 2 ครั้ง (เฉลี่ย 8.7 และ 8.1 วัน ตามลำดับ) ส่วนระยะเวลาการให้ clxacillin ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่ม ในด้านประสิทธิผล พบว่าผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มมีการตอบสนองต่อการรักษาที่ใกล้เคียงกัน โดยมีไข้ลดลงภายใน 5 วัน และไม่มีการเปลี่ยนไปใช้ยาต้านจุลชีพตัวอื่น ร้อยละ 68.2 ในกลุ่มที่ใช้ amikacin แบบวันละครั้งและ 71.1 ในกลุ่มที่ใช้แบบวันละ 2 ครั้ง ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา ผู้ป่วยเกือบทุกรายในทั้งสองกลุ่มตอบสนองต่อการเปลี่ยนไปใช้ยาอื่น ในด้านต้นทุน พบว่าองค์ประกอบของต้นทุนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษา febrile neutropenia ด้วยยาในตอนแรกในกลุ่มที่ ให้ amikacin แบบวันละครั้งมีค่ามัธยฐานเท่ากับ 5,097 บาท และในกลุ่มที่ให้แบบวันละ 2 ครั้ง มีค่า 5,872 บาท อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของค่าใช้จ่ายระหว่างกลุ่มไม่ถึงระดับนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ตามมาเนื่องจากการรักษาครั้งแรกล้มเหลว พบว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการให้ยา amikacin ในทั้งสองกลุ่มก็ใกล้เคียงกัน เมื่อคำนวณต้นทุนรวมทั้งในกรณีที่รวมและไม่รวมค่าห้อง-ค่าอาหาร และเมื่อใช้มูลค่าของยาตามปริมาณที่ใช้จริงสำหรับยาฉีดที่สามารถแบ่งใช้ได้ ก็ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการให้ amikacin แบบวันละครั้งกับแบบวันละ 2 ครั้ง ดังนั้น การใช้ amikacin แบบวันละครั้งจึงเป็นการบริหารยาที่ให้ประสิทธิผลในการรักษา febrile neutropenia ไม่ด้อยกว่าการให้แบบวันละ 2 ครั้งและแม้ต้นทุนเกิดขึ้นโดยรวมจะไม่แตกต่างกัน แต่การให้แบบวันละครั้งน่าจะทำให้เกิดความสะดวกต่อผู้ป่วยและลดภาระงานของผู้ให้บริการสุขภาพ
ที่มา
วารสารสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ปี 2549, January-June
ปีที่: 38 ฉบับที่ 1 หน้า 53-70
คำสำคัญ
cost-effectiveness, Amikacin, Febrile neutropenia, ต้นทุน-ประสิทธิผล