การเปรียบเทียบผลทางคลีนิกระหว่างการใช้เอ็นแฮมสตริงค์ 6 ทบกับเอ็นลูกสะบ้าในการผ่าตัดส่องกล้องสร้างเอ็นไขว้หน้าหัวเข่า
ธไนนิธย์ โชตนภูติ, สมศักด์ิ ปัตยะกร, อรรคพัฐ โกสิยตระกูล, อาทิตย์ เหล่าเรืองธนา*
Department of Orthopaedics, Phramongkutklao Hospital and College of Medicine, 315 Ratchawithi Rd, Bangkok 10400, Thailand.Phone: 0-2246-0066 ext. 93459, Fax: 0-2644-4940, E-mail: artitlao@yahoo.com
บทคัดย่อ
ปัจจุบันมีการศึกษาเปรียบเทียบมากมายที่แสดงให้เห็นว่าการทำผ่าตัดผ่านกล้อง เพื่อสร้างเอ็นไขว้หน้าของหัวเข่าขึ้นใหม่โดยใช้เอ็นแฮมสตริงค์ 4 ทบให้ผลการรักษาดีเทียบเท่ากับการใช้เอ็นลูกสะบ้า จากการที่ผู้นิพนธ์ฉบับนี้พบว่าเอ็นแฮมสตริงค์ที่เก็บได้จากผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความยาวเหลือมากพอที่จะทบได้เป็น 6 ทบ โดยไม่เป็นการเพิ่มความเสียหาย หรือ ความเสี่ยงใด ๆ ต่อผู้ป่วย จึงทำการศึกษาเปรียบเทียบแบบสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบ่ง ผู้ป่วยเป็นกลุ่มละ 17 คน โดยกลุ่มหนึ่งใช้เอ็นแฮมสตริงค์ 6 ทบ อีกกลุ่มหนึ่งใช้เอ็นลูกสะบ้า ผู้ป่วยทุกรายได้รับการตรวจติดตามหลังผ่าตัดอย่างน้อย 12 เดือน ตัวชี้วัดหลักของการศึกษาคือ ความมั่นคงของข้อเข่าซึ่งชี้วัดด้วย KT-2000 ตัวชี้วัดรองได้แก่ กิจกรรมและความพึงพอใจของผู้ป่วยโดยประเมินจาก IKDC and Lysholm score มีผู้ป่วย 13 ราย ในกลุ่มที่ใช้เอ็นแฮมสตริงค์ 6 ทบ และ 15 ราย ที่ใช้เอ็นลูกสะบ้ามารับการรักษาติดตามผล โดยค่าเฉลี่ยของ ระยะเวลาที่มาติดตามผลคือนาน 19 เดือน พบว่าเข่าของกลุ่มที่ได้รับการผ่าตัดโดยใช้เอ็นแฮมสตริงค์ 6 ทบมีความมั่นคงมากกว่ากลุ่มที่ใช้เอ็นลูกสะบ้าอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีจำนวนผู้ป่วยที่กลับไปเล่นกีฬาได้ในสัดส่วนที่มากกว่า และยังมีปัญหาแทรกซ้อนเรื่องอาการเจ็บด้านหน้าหัวเข่าน้อยกว่าอย่างชัดเจน แม้ว่าผลการประเมินคะแนนความพึงพอใจจะแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญก็ตาม จึงสรุปได้ว่าการทำผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อสร้างเอ็นไขว้หน้าของหัวเข่า ขึ้นใหม่โดยใช้เอ็นแฮมสตริงค์ 6 ทบ สามารถคืนความมั่นคงให้ข้อเข่าได้มากกว่าการใช้เอ็นลูกสะบ้า และมีภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า ซึ่งมีความเหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องมีการคุกเข่าของชาวเอเชีย
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2552, April ปีที่: 92 ฉบับที่ 4 หน้า 491-497
คำสำคัญ
Anterior cruciate ligament, Bone-patellar tendon-bone graft, Patellar ligament, Reconstructive surgical procedures, Tendon transfer, Transplantation autologous