การโกนหรือตัดขนบริเวณอวัยวะเพศเพื่อเตรียมการคลอดในสตรีตั้งครรภ์ที่เจ็บครรภ์คลอด
พันธ์ทิพย์ จิรเศรษฐสิริ, เอกชัย โควาวิสารัช*
Po Box 28, Rajavithi Post Office, Bangkok 10408, Thailand. E-mail: ekachai@rajavithi.go.th
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบผลที่เกิดแก่ทารกและสตรีตั้งครรภ์ที่เจ็บครรภ์คลอดได้รับการโกนขนหรือตัดขนบริเวณอวัยวะเพศเพื่อเตรียมการคลอด วัสดุและวิธีการ: สตรีตั้งครรภ์ที่เจ็บครรภ์และไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางอายุรกรรมและสูติกรรมที่มาคลอดที่โรงพยาบาลราชวิถี ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ถึง 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ได้รับการคัดเลือกเข้ามาในการศึกษานี้ 500 คน หลังจากได้ตัดผู้ที่ได้รับการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง 42 คน คงเหลือ สตรีที่อยู่ในกลุ่มที่ 1 ซึ่งได้รับการตัดขนบริเวณอวัยวะเพศจำนวน 227 คน และ กลุ่มที่ 2 ซึ่งได้รับการโกนขนบริเวณอวัยวะเพศ จำนวน 231 คน ผลการศึกษา: อายุครรภ์ขณะคลอดในกลุ่มที่ตัดขน (39.4 สัปดาห์) มากกว่าในกลุ่มที่โกนขน (39.1 สัปดาห์) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในอัตราการติดเชื้อของแผลฝีเย็บ แผลฝีเย็บแยก และ puerperal morbidity ระหว่าง 2 กลุ่ม ไม่มีทารกติดเชื้อ และภาวะติดเชื้อหลังคลอดในทั้ง 2 กลุ่ม ผู้ทำคลอดและผู้เย็บแผลมีระดับความพึงพอใจต่อวิธีการโกนมากกว่าวิธีการตัดขนบริเวณอวัยวะเพศอย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.001) สรุป: ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในอัตราการติดเชื้อแผลฝีเย็บ แผลแยก การติดเชื้อในทารกแรกเกิด ภาวะ puerperal morbidity และการติดเชื้อหลังคลอดในสตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับการโกนขนหรือตัดขนบริเวณอวัยวะเพศเพื่อเตรียมการคลอด
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2548, September ปีที่: 88 ฉบับที่ 9 หน้า 1167-1171
คำสำคัญ
perineal hair cutting, perineal shaving, perineal wound infection and puerperal infection