ผลการรักษาฝีปริทันต์ชนิดเฉียบพลันโดยการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับการขูดหินน้ำลาย เกลารากฟัน
พิณทิพา บุณยะรัตเวช*, รัตนา อัมไพรวรรณ, สาครรัตน์ คงขุนเทียน
Department of Periodontology, Faculty of Dentistry, Chiang Mai University
บทคัดย่อ
ฝีปริทันต์ชนิดเฉียบพลันเป็นอาการที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ดีการรักษาด้วยการขูดหินน้ำลายเกลารากฟันในช่วงที่เนื้อเยื่อมีการอักเสบรุนแรง มักทำให้เหงือกร่นและไม่สวยงาม งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาผลของการใช้ยาปฏิชีวนะในรูปแบบต่าง ๆ ก่อนการขูดหินน้ำลายเกลารากฟันเปรียบเทียบกับการขูดหินน้ำลายเกลารากฟันในการรักษาฝีปริทันต์ โดยทำการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นฝีปริทันต์ชนิดเฉียบพลัน 20 คน (อายุเฉลี่ย 46.2 ปี) แบ่งกลุ่มวิธีการรักษาออกเป็น 4 กลุ่ม คือ (1) ขูดหินน้ำลายเกลารากฟันอย่างเดียว (2) ยาด็อกซิซัยคลินทางระบบ (3) ใส่ยา 2% มิโนซัยคลินเจลในร่องเหงือก หรือ (4) ใส่ยา 25% เมโทรนิดาโซลเจลในร่องเหงือก ในวันแรกของการรักษาผู้ป่วยทุกคนได้รับการระบายหนองจากฝีปริทันต์ หลังจากนั้นกลุ่ม(1) ได้รับการขูดหินน้ำลายเกลารากฟัน ส่วนกลุ่มที่เหลือได้รับยาตามคำแนะนำสำหรับแต่ละกลุ่ม หลังจากนั้น 2 สัปดาห์เมื่อการอักเสบทุเลาลงแล้ว ผู้ป่วยกลุ่ม (2) (3) และ (4) จึงได้รับการขูดหินน้ำลายเกลารากฟัน ค่าทางคลินิกที่วัดได้แก่ ระดับขอบเหงือก ความลึกของร่องลึกปริทันต์ ระดับการสูญเสียการยึดจับ ดัชนีคราบจุลินทรีย์ และการโยกของฟัน โดยทำการวัดก่อนการรักษา และทุก ๆ เดือนหลังการรักษาจนครบ 3 เดือน ผลการศึกษาพบว่าก่อนเริ่มการรักษา ความลึกค่าทางคลินิกของร่องลึกปริทันต์มีค่าเฉลี่ย 7.5-8.9 มม. ขณะที่การสูญเสียการสูญเสียการยึดจับมีค่าเฉลี่ย 7.0-9.4 มม. ทั้งนี้ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ การเปลี่ยนแปลง ณ เดือนที่ 3 ของทุกกลุ่มเป็นไปในทางที่ดีขึ้น กลุ่มที่ใช้ยาปฏิชีวนะทั้ง 3 กลุ่มมีแนวโน้มที่ให้ผลการรักษาที่ดีกว่ากลุ่ม (1) โดยมีการลดลงของความลึกของร่องลึกปริทันต์ (3.8, 4.6, 4.6 และ 5.2 มม. ในกลุ่ม (1) (2) (3) และ (4) ตามลำดับ) ร่วมกับมีการเพิ่มการยึดจับ 2.5, 3.1, 3.0 และ 3.7 มม. และมีเหงือกร่น 1.3, 1.5, 1.5 และ 1.5 มม. ในกลุ่ม (1) (2) (3) และ (4) ตามลำดับ อย่างไรก็ดีไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ระหว่างกลุ่ม ภายใต้ข้อจำกัดของการศึกษานี้จึงสรุปได้ว่า การใช้ยาปฏิชีวนะในรูปแบบต่างๆก่อนการขูดหินน้ำลายเกลารากฟันไม่ทำให้ผลการรักษาฝีปริทันต์ดีกว่าการขูดหินน้ำลายเกลารากฟันอย่างเดียว
ที่มา
เชียงใหม่ทันตแพทยสาร ปี 2547, January-December ปีที่: 25 ฉบับที่ 1 หน้า 43-56
คำสำคัญ
Antibiotics, Doxycycline, Minocycline, Periodontal abscess, ด็อกซิซัยคลิน, ฝีปริทันต์, มิโนซัยคลิน, ยาปฏิชีวนะ, ยาเฉพาะที่, เมโทรนิดาโซล