ผลการรักษาด้วยยาอิริโทรโพไออีตินต่อการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของหัวใจห้องล่างซ้ายในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
ยุทธนา หมั่นดี, ศรัณย์ ควรประเสริฐ, สุเมธ พงศ์หล่อพิศิษฏ์*, อภิชาต สุคนธสรรพ์, อรินทยา พรหมินธิกุล
Division of Cardiology, Department of Medicine, Faculty of Medicine, Chiang Mai University, 110 Intrawarorose Road, Sripoom Chiang Mai 50200, Thailand.  Tel: (66)-53-945486, Fax: (66)-53-214352, E-mail: sumethponglopisit@yahoo.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: การเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจะทำให้ร่างกายมีขบวนการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของหัวใจห้องล่างซ้ายมีขนาดใหญ่ขึ้นและเปลี่ยนรูปทรงซึ่งเป็นผลทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา การศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่าการใช้ยาอิริโทรโพไออีตินสามารถลดขบวนการดังกล่าว การศึกษานี้จึงเป็นการประเมินผลของการรักษาด้วยยาอิริโทรโพไออีตินในผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันในการลดขบวนการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของหัวใจห้องล่างซ้ายวิธีการศึกษา: การศึกษานำร่องชนิดไปข้างหน้า โดยมีผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่ได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดทั้งสิ้น 7 ราย โดย 4 รายได้รับยาอิริโทรโพไออีติน (ขนาด 1,000 ยูนิตต่อกิโลกรัม) ทางหลอดเลือดดำเพียงครั้งเดียวทันทีภายหลังได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดและ 3 รายไม่ได้รับยายาอิริโทรโพไออีติน ประเมินขบวนการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของหัวใจห้องล่างซ้ายโดยการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจผ่านทางทรวงอกระหว่างเริ่มเข้าการศึกษาและ12 สัปดาห์ภายหลังเข้าร่วมการศึกษาในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มผลการศึกษา: ผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้รับยาอิริโทรโพไออีตินมีแนวโน้มที่จะได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดช้ากว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับยาอิริโทรโพไออีติน (187.5 ± 43.1 เปรียบเทียบกับ 70.0 ±26.5 นาที, p = 0.11) แต่ผลการรักษามีแนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของหัวใจเป็นทรงกลมน้อยกว่า (-11.3 ± 3.3 เปรียบเทียบกับ 8.8 ± 13.7, p = 0.16) ในขณะที่ผลการเปลี่ยนแปลงเป็นเปอร์เซ็นต์ของปริมาตรของหัวใจขณะคลายตัว (17.0 ± 13.4 เปรียบเทียบกับ 39.0 ± 81.6, p = 1.00), ปริมาตรของหัวใจขณะบีบตัว (40.5 ± 25.4 เปรียบเทียบกับ 25.5 ± 21.0, p = 0.37), การบีบตัว ของหัวใจ (1.57 ± 7.86 เปรียบเทียบกับ 8.3 ± 14.5, p = 0.48), การหนาตัวของหัวใจ (-32.3 ± 14.1 เปรียบเทียบกับ 4.4 ± 32.8, p = 0.29), ปริมาตรกล้ามเนื้อหัวใจ (32.3 ± 22.1 เปรียบเทียบกับ 18.9 ± 37.7, p = 0.72) และดัชนีการหนาตัวของผนังหัวใจ (0.26 ± 4.16 เปรียบเทียบกับ -7.8 ± 4.4, p= 0.27) ในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้ยาอิริโทรโพไออีตินมีความปลอดภัยสรุป: ยาอิริโทรโพไออีตินมีแนวโน้มในการช่วยลดขบวนการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของหัวใจห้องล่างซ้ายภายหลังเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่ได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด
ที่มา
วารสารโรคหัวใจ ปี 2552, January ปีที่: 22 ฉบับที่ 1 หน้า 14-22