ประสิทธิผลของแผ่นยาลิโดเคนที่ผลิตเองในประเทศเปรียบเทียบกับเบนโซเคนเจลร้อยละ 20 ในการลดความเจ็บปวดจากการแทงเข็มฉีดยา
ศานุตม์ สุทธิพิศาล, สุพจน์ ตามสายลม, กาญจน์พิมล ฤทธิเดช, พรทิพย์ จุฑาชวกุล*
Dental Department, Ramadhibodi Hospital
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาจุดเริ่มต้นและระยะเวลาในการออกฤทธิ์ของแผ่นยาชาลิโดเคนที่ผลิตเองในประเทศ และเปรียบเทียบประสิทธิผลของแผ่นยาชาลิโดเคนนี้กับเบนโซเคนเจลร้อยละ 20 ในการลดความเจ็บปวดจากการแทงเข็มฉีดยา โดยศึกษาในอาสาสมัครจำนวนทั้งสิ้น 30 คน อายุระหว่าง 20 ถึง 58 ปี ซึ่งผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมการวิจัย ทำการทดสอบหาจุดเริ่มต้นและระยะเวลาการออกฤทธิ์ของแผ่นยาชาลิโดเคน ทั้งทางด้านแก้มและเพดานปากบริเวณฟันกรามน้อยบน โดยอาสาสมัครให้คะแนนวีเอส และวีเอเอสก่อนแปะแผ่นยาชาและหลังการแทงเข็มทันที่ที่จุดเวลาต่างๆ คำนวณหาจุดเริ่มต้นการออกฤทธิ์ของแผ่นยาชาลิโดเคน เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบประสิทธิผลกับเบนโซเคนเจลในแผ่นยาชาหลอก โดยการสุ่มทดสอบยาชาต่างชนิดกันในขากรรไกรบนทางด้านแก้มหรือเพดานปากทั้งข้างซ้ายและขวา หลังการแทงเข็มฉีดยาที่จุดเริ่มต้นการออกฤทธิ์ของยาชาแต่ละชนิด อาสาสมัครให้คะแนนวีพีเอสและวีเอเอสภายใน 15 วินาที ผลการวิจัยพบว่า จุดเริ่มต้นในการออกฤทธิ์ของแผ่นยาชาลิโดเคนเท่ากับ 1 และ 10 นาที ทางด้านแก้มและด้านเพดานปากตามลำดับ  และมีระยะเวลาในการออกฤทธิ์ไม่เกิน 15 นาที ภายหลังการแกะแผ่นยาชาลิโดเคนทางด้านแก้ม และไม่น้อยกว่า 30 นาทีทางด้านเพดานปาก ผลการเปรียบเทียบประสิทธิผลของแผ่นยาชาลิโดเคนกับเบนโซเคนเจลพบว่า คะแนนเฉลี่ยของค่าความเจ็บปวดวีพีเอสและวีเอเอสหลังการแทงเข็มภายหลังการแปะแผ่นยาชาลิโดเคนทางด้านแก้ม มีค่าน้อยกว่าเมื่อทดสอบด้วยเบนโซเคนเจลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ [0.30± ฃ0.54 (วีพีเอส) และ 4.00 ±6.30 (วีเอเอส) สำหรับแผ่นยาชาลิโดเคน และ 0.90±0.85 (วีพีเอส) และ 14.00±17.76 (วีเอเอส) สำหรับเบนโซเคนเจล, P = 0.002] ในขณะที่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของค่าเฉลี่ยคะแนนความเจ็บปวดหลังการแทงเข็มทางด้านเพดานปาก ภายหลังการทดสอบด้วยยาชาทั้งสองชนิด [0.83±0.46 (วีพีเอส) และ 11.08±9.75 (วีเอเอส) สำหรับแผ่นยาชาลิโดเคน และ 1.03±0.56 (วีพีเอส) และ 14.10±12.43 (วีเอเอส) สำหรับเบนโซเคนเจล] การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของแผ่นยาชาลิโดเคนที่ผลิตขึ้นเองที่เหนือกว่าเบนโซเคนเจลในการลดความปวดจากการแทงเข็มฉีดยาทางด้านแก้ม
ที่มา
วารสารปริทันตวิทยา ปี 2550, ปีที่: 1 ฉบับที่ 1 หน้า 17-25
คำสำคัญ
Lidocaine patch, Anesthetic onset and duration, Benzocaine gel, Topical anesthetics