คุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับคำปรึกษาจากเภสัชกรโรงพยาบาลนครนายก
มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย, หฤทัย คุโณทัย*
กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลนครนายก; jew_lew5@yahoo.com
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาคุณภาพชีวิต และปัจจัยที่สัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวาน ที่ผ่านการให้คำปรึกษาโดยเภสัชกรครั้งสุดท้ายภายในระยะเวลา 1 ปี และมารับการรักษา ณ คลินิกเบาหวานโรงพยาบาลนครนายก ระหว่างเดือนสิงหาคม ถึงกันยายน 2548 โดยมีผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมด 147 ราย รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้ป่วย และประเมินผลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโดยใช้แบบสอบถาม SF-12 ฉบับภาษาไทย ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 76.2) และเป็นผู้สูงอายุ มีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 59.0 ปี มีดัชนีมวลกายเฉลี่ย 26.3 kg/m2 ระยะเวลาการเป็นเบาหวาน 6 - 10 ปี อาการที่พบในผู้ป่วยได้แก่ อาการชา ปวดปลายมือปลายเท้า และตาพร่ามัว ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย (ร้อยละ 67.3) มีระดับน้ำตาลในเลือดเฉลี่ยเท่ากับ 179.6 mg/dL ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับยาเม็ดลดระดับน้ำตาลในเลือดจำนวน 2 ชนิด ได้แก่ glibenclamide และ metformin ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับคำปรึกษาโดยเภสัชกรจำนวน 1 ครั้ง โดยส่วนใหญ่มีระยะเวลาหลังได้รับการให้คำปรึกษาครั้งสุดท้ายราว 7 - 12 เดือน ส่วนใหญ่มีความเข้าใจคำปรึกษาของเภสัชกรเป็นอย่างดี แต่ปฏิบัติตามคำปรึกษาของเภสัชกรได้บางประเด็น นอกจากนี้ ผู้ป่วยส่วนมากรู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้นเพียงเล็กน้อยหลังได้รับคำปรึกษาโดยเภสัชกร ทั้ง ๆ ที่ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการให้คำปรึกษาของเภสัชกร ผู้ป่วยมีคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตเฉลี่ยเท่ากับ 43.7 ± 9.5 คะแนน และ 51.6 ± 9.5 คะแนน ตามลำดับ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนมาตรฐานเฉลี่ยสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชากรสหรัฐอเมริกา (50.0 ± 10.0 คะแนน) พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 70.1 มีคะแนนสุขภาพกายต่ำกว่าคะแนนมาตรฐานเฉลี่ย และผู้ป่วยร้อยละ 63.9 มีคะแนนสุขภาพจิตสูงกว่าคะแนนมาตรฐานเฉลี่ย สำหรับปัจจัยที่สัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตในด้านสุขภาพกายของผู้ป่วยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) ได้แก่ความสามารถในการอ่านเขียนของผู้ป่วย การออกกำลังกาย ด้านสุขภาพจิต ได้แก่ ความถี่ของอาการตามัว ความเครียด และปัจจัยที่สัมพันธ์ทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต ได้แก่ ความถี่ของการเกิดอาการอาการชา/ปวดปลายมือ ปลายเท้า ดังนั้นสหสาขาวิชาชีพควรพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อนำไปใช้ปรับรูปแบบแนวทางในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
ที่มา
ไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ (ศรีนครินทรวิโรฒเภสัชสาร) ปี 2551, January-April ปีที่: 3 ฉบับที่ 1 หน้า 49-59
คำสำคัญ
คุณภาพชีวิต, การให้คำปรึกษาโดยเภสัชกร, ผู้ป่วยเบาหวาน