การเปรียบเทียบผลของความร้อนระหว่างแผ่นประคบร้อนและลูกประคบสมุนไพรต่อการบรรเทาปวดและการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา
ทกมล กมลรัตน์, ปรีดา อารยาวิชานนท์, พรรณี ปึงสุวรรณ*, วัณทนา ศิริธราธิวัฒน์, อรวรรณ แซ่ตั่น
Division of Physical Therapy, Faculty of Associated Medical Sciences; e-mail: ppunne@kku.ac.th
บทคัดย่อ
          การประคบด้วยลูกประคบสมุนไพรเป็นวิธีการบำบัดของแพทย์แผนไทย ซึ่งนำมาใช้ควบคู่กับการนวดไทยมานาน สำหรับการแพทย์แผนปัจจุบันมีการใช้แผ่นประคบร้อนในการรักษาทางกายภาพบำบัด ความร้อนทั้งสองรูปแบบนำมาใช้รักษาผู้ที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อของร่างกาย เนื่องจากลูกประคบอาจมีผลของสมุนไพรร่วมด้วย ดังนั้นการใช้ลูกประคบสมุนไพรและแผ่นประคบร้อนอาจให้ผลลดอาการปวดของกล้ามเนื้อได้แตกต่างกัน การศึกษานี้ต้องการเปรียบเทียบผลการเปลี่ยนแปลงของระดับอาการปวดและค่าทางสริรวิทยาระหว่างการประคบแผ่นร้อนและลูกประคบสมุนไพรในอาสาสมัครปวดหลังส่วนล่างแบบไม่ทราบสาเหตุ อาสาสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 24 คน อายุเฉลี่ย 41 ± 8 ปี เพศหญิง 15 คน และเพศชาย 9 คน ได้รับการรักษาที่บริเวณกล้ามเนื้อหลัง 2 รูปแบบ คือ วางแผ่นประคบร้อนและลูกประคบสมุนไพร นาน 20 นาที ทำการทดลองห่างกัน 1 สัปดาห์ วัดค่าตัวแปร ก่อนและหลังการทดลอง ผลการศึกษาพบว่า ระดับความเจ็บปวด (visual analog scale; VAS) ของอาสาสมัครลดลงหลังได้รับแผ่นประคบร้อน (ค่าเฉลี่ย VAS ลดลง 1.36, P < 0.01) และลูกประคบสมุนไพร (ค่าเฉลี่ย VAS ลดลง 1.03, P < 0.001) ทั้งสองวิธี มีผลลดปวดไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ อัตราการเต้นหัวใจของอาสาสมัครที่ใช้ลูกประคบสมุนไพรลดลงมากกว่าการรักษาด้วยแผ่นประคบร้อนอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีค่าเฉลี่ย 4 ครั้ง/นาที  (95% CI: -1.13 ถึง -5.3, P < 0.01) แต่การใช้แผ่นประคบร้อนทำให้อุณหภูมิผิวกายสูงมากกว่าการใช้ลูกประคบสมุนไพร มีค่าเฉลี่ย 0.49 องศาเซลเซียส (95% CI: 0.06 ถึง 0.91, P < 0.05) เมื่อเปรียบเทียบภายในกลุ่ม ระดับความรู้สึกกดเจ็บเพิ่มขึ้นในการรักษาด้วยลูกประคบสมุนไพร (ค่าเฉลี่ย 0.85 กิโลกรัม/ตารางเมตร, P < 0.01) และมุมการเคลื่อนไหวของหลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในการใช้แผ่นประคบร้อน (ค่าเฉลี่ย 0.49 เซนติเมตร, P < 0.001) ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ความร้อนทั้งสองรูปแบบมีผลทำให้อาการปวดลดลงไม่แตกต่างกัน แต่การใช้ลูกประคบสมุนไพรมีผลทำให้อัตราการเต้นของหัวใจลดลง ทั้งนี้อาจเป็นผลจากกลิ่นสมุนไพรและการกดคลึงไปตามกล้ามเนื้อหลัง อาจจะส่งผลทำให้เกิดการผ่านคลายได้ดีกว่า คณะผู้วิจัยมีความคิดเห็นว่า ความสะดวกในการนำไปใช้และวัสดุที่ให้ความร้อนนานจะเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ใช้มีความต้องการ ดังนั้น การประยุกต์รูปแบบผลิตภัณฑ์ของการประคบความร้อนด้วยสมุนไพรที่ให้ความร้อนนานกว่าเดิม น่าจะเหมาะสมและทำให้เกิดผลการรักษาที่ดีขึ้น
ที่มา
วารสารเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด ปี 2552, January-April ปีที่: 21 ฉบับที่ 1 หน้า 74-82
คำสำคัญ
Hot pack, Thai herbal ball, Visual analogue scale (VAS), ระดับความเจ็บด้วยสายตา, ลูกประคบสมุนไพร, แผ่นประคบร้อน