การศึกษาผลของเลเซอร์ชนิดฮีเลียมนีออนต่อระดับความอดกลั้นความรู้สึกปวดและอัตราการไหลของเลือดที่ผิวหนังในคนปกติ
กฤษฎา พันธ์เดช, มนตรี ยาสุด, สมชาย รัตนทองคำ*, ไพบูลย์ แก้วทอง
Division of Physical Therapy, Faculty of Associated Medical Sciences, Khon Kaen University; e-mail: somch_ra@kku.ac.th
บทคัดย่อ
        การใช้เลเซอร์เพื่อการรักษาทางกายภาพบำบัดนิยมใช้เพื่อการส่งเสริมการซ่อมแซมเนื้อเยื่อและการระงับปวด แต่ข้อสรุปที่ชัดเจนถึงผลของเลเซอร์กำลังต่ำรวมถึงการศึกษาผลของเลเซอร์ชนิดฮีเลียมนีออน (HeNe) ยังไม่มากนัก การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของเลเซอร์กำลังต่ำชนิดฮีเลียมนีออนต่อระดับความอดกลั้นความรู้สึกปวด (pressure pain tolerance, PPT) และอัตราการไหลของเลือดที่ผิวหนัง ในอาสาสมัครปกติ จำนวน 24 คน ชาย 11 คน หญิง 13 คน อายุระหว่าง 18-23 ปี (เฉลี่ย 21.38 ± 1.28 ปี) ทำการจับสลากสุ่มแขนอาสาสมัครเพื่อเลือกการจัดกระทำโดยแขนข้างหนึ่งได้รับการจัดกระทำด้วยเลเซอร์ (HeNe laser, 12 mW) ที่จุดฝังเข็ม (Li11) เป็นเวลา 333 วินาที อีกข้างหนึ่งได้รับการจัดกระทำแบบหลอก ทั้งสองกลุ่มได้รับการวัดและบันทึกค่า PTT ด้วยเครื่อง pressure algometer ก่อนและหลังการจัดกระทำทันที และบันทึกอัตราการไหลเวียนเลือดที่ผิวหนังด้วยเครื่อง Laser Doppler flow-meter ตลอดระหว่างการทดลอง ผลการทดลองพบว่า ค่า PTT ในกลุ่มที่รับเลเซอร์มีค่าสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการจัดกระทำแบบหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) (mean ± SD PTT มีค่า 0.86 ± 0.48 และ 0.54 ± 0.67 kg/cm2) และอัตราการไหลของเลือดที่ผิวหนังในกลุ่มที่ได้รับการจัดการทำด้วยเลเซอร์มีค่าสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการจัดกระทำแบบหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) (mean ± SD skin blood flow มีค่า 1.87 ± 2.35 PU และ 0.43 ± 2.48 PU) จากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าเลเซอร์ชนิดฮีเลียมนีออนมีผลเพิ่มระดับความอดกลั้น ความรู้สึกปวดและอัตราการไหลของเลือดที่ผิวหนังในคนปกติ
ที่มา
วารสารเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด ปี 2551, September-December ปีที่: 20 ฉบับที่ 3 หน้า 221-226
คำสำคัญ
HeNe laser, Low power laser, Pain tolerance, Skin blood flow, ระดับความอดกลั้นความรู้สึกปวด, อัตราการไหลของเลือดที่ผิวหนัง, ฮีเลียมนีออน, เลเซอร์กำลังต่ำ