ผลของการฟื้นฟูสภาพที่บ้านต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
ทวีลักษณ์ วรรณฤทธิ์, บรรณฑวรรณ หิรัญเคราะห์*, พวงพยอม ปัญญา
Boromarajonani College of Nursing Chakriraj, Ratchaburi Province
บทคัดย่อ
                ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่รอดชีวิตมักจะมีความพิการหลงเหลืออยู่ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันต้องพึ่งพาผู้อื่นหรือผู้ดูแล การฟื้นฟูสภาพเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นคืนสภาพกลับมาช่วยเหลือตนเองได้ อันเป็นผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงผลของการฟื้นฟูสภาพที่บ้านต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี และถูกจำหน่ายกลับไปอยู่บ้านจำนวน 30 รายเลือกตามเกณฑ์ที่กำหนด แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองกลุ่มละ 15 ราย โดยทั้งสองกลุ่มมีความคล้ายคลึงกันในเรื่องอายุและระดับความพิการ กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการฟื้นฟูสภาพที่บ้าน กลุ่มควบคุมได้รับการสอนตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) แบบบันทึกข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 2) แบบประเมินคะแนนดัชนีคุณภาพชีวิต ผู้วิจัยดัดแปลงจากแบบประเมินของสมจิต หนุเจริญกุล (Hanucharurnkul, 1988) ที่สร้างตามแนวคิดของพาดิลลา และแกรนท์ (Padilla & Grant, 1985) มีค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ .78 ทดสอบความเชื่อมั่นด้วยสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคมีค่าเท่ากับ .89 3) โปรแกรมการฟื้นฟูสภาพ ที่บ้านผู้วิจัยสร้างจากการทบทวนวรรณกรรมและแนวคิดของสมาคมเวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย (2539) และ 4) แบบบันทึกการฟื้นฟูสภาพที่บ้านสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สถิติไค-สแควร์ และ สถิติที                ผลการวิจัยพบว่า                คะแนนดัชนีคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหลังได้รับการฟื้นฟูสภาพที่บ้านดีกว่าก่อนได้รับโปรแกรมการฟื้นฟูสภาพที่บ้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และคะแนนดัชนีคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกลุ่มทดลองหลังจากได้รับโปรแกรมการฟื้นฟูสภาพที่บ้านดีกว่าคะแนนดัชนีคุณภาพชีวิตของกลุ่มควบคุมที่ได้รับการสอนตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001                ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการฟื้นฟูสภาพที่บ้านทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงควรนำโปรแกรมการฟื้นฟูสภาพที่บ้านไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลต่อไป
ที่มา
พยาบาลสาร ปี 2550, January-March ปีที่: 34 ฉบับที่ 1 หน้า 110-120
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง, Home rehabilitation, Stroke patients, การฟื้นฟูสภาพที่บ้าน