การวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผลบริการผู้ป่วยสูงอายุโรคความดันโลหิตสูง ในแผนกผู้ป่วยนอกและหน่วยบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ภิฤดี ภวนานันท์, ศศิธร สุรทานต์นนท์, สุขุม เจียมตน, สุคนธา คงศีล
Department of Public Health Administration, Faculty of Public Health, Mahidol University 420/1 Rajavithi Road, Ratchathewi District, Bangkok 10400, Thailand
บทคัดย่อ
                การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผลบริการผู้ป่วยสูงอายุโรคความดันโลหิตสูง ที่แผนกผู้ป่วยนอกและหน่วยบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง อายุ 60 ปีขึ้นไปที่ได้รับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกจำนวน 54 คน และที่หน่วยบริการปฐมภูมิ จำนวน 36 คน ติดตามผลการรักษาแบบไปข้างหน้า ระยะเวลาศึกษา 12 สัปดาห์ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2550- 30 กันยายน พ.ศ.2550 เก็บรวบรวมข้อมูลต้นทุนทั้งด้านผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ประเมินประสิทธิผลบริการผู้ป่วยสูงอายุโรคความดันโลหิตสูง โดยตรวจวัดความดันโลหิตที่เปลี่ยนแปลงด้วยเครื่องมือที่ผ่านการตรวจสอบความเที่ยง วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปและข้อมูลต้นทุนด้วยสถิติพรรณนา วิเคราะห์ประสิทธิผลบริการโดยค่าเฉลี่ยของความดันโลหิตซิสโตลิกที่ลดลงและเปรียบเทียบอัตราส่วนต้นทุน-ประสิทธิผลบริการผู้ป่วยสูงอายุโรคความดันโลหิตสูงโดยอัตราส่วนต้นทุนต่อหน่วยความดันโลหิตที่ลดลง                ผลการศึกษาพบว่า การให้บริการผู้ป่วยสูงอายุโรคความดันโลหิตสูงที่หน่วยบริการปฐมภูมิมีต้นทุน-ประสิทธิผลสูงกว่าที่แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลหัวหิน โดยอัตราส่วนต้นทุน-ประสิทธิผลบริการผู้ป่วยสูงอายุโรคความดันโลหิตสูงที่แผนกผู้ป่วยนอก เท่ากับ 75.05 บาทต่อมิลลิเมตรปรอทที่ลดลง และที่หน่วยบริการปฐมภูมิเท่ากับ 32.60 บาทต่อมิลลิเมตรปรอทที่ลดลง พบว่า ต้นทุนรวมต่อหน่วยบริการผู้ป่วยสูงอายุโรคความดันโลหิตสูง ที่แผนกผู้ป่วยนอกเท่ากับ 1,223.27 บาท ซึ่งสูงกว่าต้นทุนรวมที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่มีค่าเท่ากับ 444.69 บาท และเมื่อวิเคราะห์ความไวของต้นทุนพบว่า เวลาในการคัดกรองโรคมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงต้นทุนบริการ ข้อเสนอแนะจากการศึกษา คือ การพัฒนาศักยภาพของหน่วยบริการปฐมภูมิให้มีขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน จะช่วยลดภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นทั้งด้านผู้ให้บริการและผู้รับบริการ นอกจากนี้ยังช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยนอกที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาล อีกทั้งควรเน้นนโยบายด้านการส่งเสริมและป้องกันโรคมากกว่าการรักษาพยาบาลในทุกกลุ่มอายุ แม้ว่าจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ แต่ในระยะยาวจะเป็นผลดีต่อคุณภาพชีวิตและลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลลงได้
ที่มา
วารสารสาธารณสุขศาสตร์ ปี 2552, January-April ปีที่: 39 ฉบับที่ 1 หน้า 101-110
คำสำคัญ
Primary, cost-effectiveness, ต้นทุน-ประสิทธิผล, Care unit, Hypertensive elderly service, Outpatient department, การบริการผู้ป่วยสูงอายุโรคความดันโลหิตสูง, หน่วยบริการปฐมภูมิ, แผนกผู้ป่วยนอก