คุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยเอดส์ในกรุงเทพมหานคร
พิทยา จารุพูนผล*, พิมพ์สุรางค์ เตชะบุญเสริมศักดิ์, สิริทัย จารุพูนผล, โชคชัย หมั่นแสวงทรัพย์
Department of Family Health, Faculty of Public Health, Mahidol University 420/1 Rajvithi Road, Rajchathewi District, Bangkok 10400, Thailand E-mail: deanph@mahidol.ac.th.
บทคัดย่อ
                การศึกษาแบบภาคตัดขวางนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ที่มารับบริการ ณ โรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งมุ่งเน้นที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ โดยการหาเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เก็บข้อมูลระหว่างเดือนกันยายน ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2550 มีผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์เข้าร่วมโครงการ จำนวน 381 คน การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป โดยข้อมูลทั่วไปของผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ใช้การคำนวณหาค่าความถี่ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์คะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ คะแนนเฉลี่ยภาระของผู้ดูแลผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ ใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานการเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ จำแนกตามปัจจัยที่ศึกษา โดยใช้ Independent samples t-test และใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-way analysis of variance) และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่ศึกษา กับคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์โดยใช้สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson’s product moment correlation coefficient) ผลการศึกษาพบว่า ผู้ติดเชื้อ/ ผู้ป่วยเอดส์ ส่วนใหญ่ให้ค่าคะแนนคุณภาพชีวิตโดยรวมของตนเองอยู่ในระดับปานกลาง สำหรับการเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์จำแนกตามปัจจัยที่ศึกษา พบว่า ผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ ที่มีรายได้ของตนเอง มีอาชีพของตนเอง มีสาเหตุของการติดเชื้อ และมีการเปิดเผยให้ครอบครัวทราบที่แตกต่างกัน จะมีค่าเฉลี่ยคุณภาพชีวิตแตกต่างกัน สำหรับการทดลองความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่ศึกษากับคุณภาพชีวิตผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ พบว่า อายุของผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ และระยะเวลาที่เปิดเผยให้ครอบครัวทราบ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิตผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ (r = 0.124, p < 0.01; r = 0.347 p < 0.001; r = 0.265, p < 0.001) ตามลำดับ ข้อเสนอแนะจากการศึกษานี้เสนอให้มีการวางแผนและการดำเนินการเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่ผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ โดยการให้ผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์พัฒนาการมีอาชีพ การมีรายได้ ความสามารถในการดูแลตนเอง และมีการเปิดเผยให้ครอบครัวทราบได้ดียิ่งขึ้น โดยควรมีการศึกษาแบบกึ่งทดลองเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ ในกรุงเทพมหานครต่อไป
ที่มา
วารสารสาธารณสุขศาสตร์ ปี 2552, ปีที่: Special Issue on 60th Anniversary of Faculty of Public Health Mahidol University ฉบับที่ หน้า 91-103
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, HIV/AIDS, ผู้ดูแล, Bangkok, Care taker, กรุงเทพมหานคร, ผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์, คุณภาพชี่วิต