การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการระงับปวดหลังผ่าตัดของการใช้ยา levobupivacaine, bupivacaine กับยาหลอกด้วยวิธีการหยอดในช่องท้อง ร่วมกับการฉีดยาชา bupivacaine บริเวณแผลผ่าตัดในระหว่างการผ่าตัดถุงน้ำดีด้วยวิธีส่องกล้อง
พรสวรรค์ งามประเสริญวงศ์, วันทา วงษ์เที่ยง, สมรัตน์ จารุลักษณานันท์, อรุณชัย นรเศรษฐกมล*, เอกณัท รณชัช
Department of Anesthesiology, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University, Bangkok 10330
บทคัดย่อ
ที่มาและวัตถุประสงค์: การผ่าตัดถุงน้ำดีโดยวิธีการส่องกล้องเป็นการผ่าตัดที่ผู้ป่วยปวดแผลน้อยกว่า ฟื้นตัวเร็วกว่าและเป็นที่นิยม ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงพัฒนาการระงับปวดหลังการผ่าตัดถุงน้ำดีโดยการส่องกล้องให้ดียิ่งขึ้นด้วยวิธีต่างๆ ร่วมกับมีการพัฒนายาใหม่ให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น ผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการระงับปวดหลังการผ่าตัดชนิดนี้ด้วยยา levobupivacaine หรือ bupivacaine เทียบกับยาหลอก (normal saline) โดยใช้วิธีหยอดยาดังกล่าวในช่องท้องก่อนเย็บปิดเยื่อบุช่องท้อง ทั้งนี้ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับยาชา bupivacaine ฉีดบริเวณแผลผ่าตัดหน้าท้องร่วมด้วย  วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบ double-blind, randomized controlled trial ในผู้ป่วยจำนวน  60 ราย โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับ 0.25% levobupivacaine กลุ่มที่ได้รับ 0.25% bupivacaine และกลุ่มที่ได้รับ normal saline โดยผู้ป่วยทุกรายจะได้รับยาที่ใช้ศึกษาปริมาตร 20 มิลลิลิตร หยอดเข้าทางช่องท้องที่บริเวณกะบังลมด้านขวาและซ้าย และฉีดที่ฐานถุงน้ำดี ร่วมกับยา 0.25% bupivacaine 10 มิลลิลิตรฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังที่แผลผ่าตัด จากนั้นบันทึกคะแนนความปวดที่แผลและความปวดที่ไหล่  เวลา และจำนวนครั้งที่ผู้ป่วยต้องการยาแก้ปวด โดยเริ่มบันทึกเมื่อผู้ป่วยอยู่ในห้องพักฟื้น และที่ 6, 12 และ 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด  ผลการศึกษา: กลุ่มที่ได้รับยา levobupivacaine และ bupivacaine หยอดเข้าช่องท้อง มีคะแนนความปวดบริเวณแผลผ่าตัดน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกที่ 6, 12 และ 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด อย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.001)  แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ได้รับ levobupivacaine และ bupivacaine มีผู้ป่วยจำนวน 10 ราย (50%) ในกลุ่ม levobupivacaine และ 5 ราย (25%) ในกลุ่ม bupivacaine ไม่ต้องการยาระงับปวดใดๆ เลย ในระหว่างที่อยู่ในห้องพักฟื้น สำหรับการเจ็บปวดหัวไหล่พบได้น้อย และไม่พบว่ามีความแตกต่างในคะแนนความเจ็บปวดที่หัวไหล่ในชั่วโมงที่ 6, 12 และ 24 หลังการผ่าตัดในแต่ละกลุ่ม  สรุป: การให้ยา 0.25% levobupivacaine หรือ0.25% bupivacaine จำนวน 20 มิลลิลิตร หยอดเข้าช่องท้องร่วมกับการฉีดยา 0.25% bupivacaine ที่แผลผ่าตัด ให้ผลลดการปวดแผลผ่าตัดบนหน้าท้องภายหลังการผ่าตัดถุงน้ำดีโดยการส่องกล้องที่ 6, 12 และ 24 ชั่วโมงแรกได้ดีกว่าการใช้ยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2551, April-June ปีที่: 34 ฉบับที่ 2 หน้า 71-77
คำสำคัญ
Bupivacaine, Levobupivacaine, Laparoscopic cholecystectomy, Intraperitoneal instillation, การผ่าตัดถุงน้ำดีด้วยวิธีส่องกล้อง, ยา levobupivacaine, วิธีการหยอดในช่องท้อง