ผลการใช้โปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาต่อพฤติกรรมการช่วยเหลือของสมาชิกในครอบครัวแก่ผู้ป่วยติดสุราเพื่อการป้องกันการติดซ้ำ
ญาดา จีนประชา*, พิทักษ์พล บุณยมาลิก, มรรยาท รุจิวิชชญ์
Faculty of Nursing, Mental Health and Psychiatric Nursing, Thammasat University
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลการใช้โปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาต่อพฤติกรรมการช่วยเหลือของสมาชิกในครอบครัวแก่ผู้ป่วยติดสุราเพื่อการป้องกันการติดซ้ำ และความพึงพอใจของสมาชิกในครอบครัว ต่อโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาวิธีการศึกษา: เป็นการศึกษากึ่งทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยติดสุรา ภายหลังการรักษาแบบผู้ป่วยในไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 60 คน โดยทำการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย ด้วยวิธีการจับฉลาก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม จำนวนกลุ่มละ 30 คน กลุ่มทดลองเป็นกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษา สำหรับกลุ่มควบคุมเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษา แต่ได้รับเอกสารคู่มือการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยติดสุรา และทั้งสองกลุ่มจะได้รับการให้คำปรึกษารายบุคคลตามปกติของทางสถาบันธัญญารักษ์ โปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาได้ประยุกต์ใช้ทฤษฎีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ และกระบวนการสุขศึกษา ใช้ระยะเวลาในการทดลอง 6 สัปดาห์ๆ ละ 1 ครั้งๆ ละ 60-90 นาที โดยใช้กระบวนการกลุ่มที่เน้นการมีส่วนร่วม การอภิปรายกลุ่มการฝึกปฏิบัติ การเก็บรวบรวมข้อมูลก่อนและหลังการทดลองโดยใช้แบบประเมินพฤติกรรมการช่วยเหลือของสมาชิกในครอบครัวผู้ป่วยติดสุรา เพื่อการป้องกันการติดซ้ำ แบบประเมินความเชื่อด้านสุขภาพเพื่อการป้องกันการติดซ้ำของสมาชิกในครอบครัวผู้ป่วยติดสุรา และและแบบสัมภาษณ์ความคิดเห็นต่อความพึงพอใจของสมาชิกในครอบครัวผู้ป่วยติดสุรา นำมาวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและทดสอบทางสถิติด้วย Chi-square test และ Independent t-testผลการศึกษา: พบว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการช่วยเหลือของสมาชิกในครอบครัวแก่ผู้ป่วยติดสุราเพื่อการป้องกันการติดซ้ำ กลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมภายหลังผ่านโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ความเชื่อด้านสุขภาพเพื่อการป้องกันการติดซ้ำของสมาชิกในครอบครัวผู้ป่วยติดสุรา กลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมภายหลังผ่านโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และพบว่าสมาชิกในครอบครัวผู้ป่วยติดสุรามีความพึงพอใจต่อโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาเพราะเป็นโปรแกรมที่มีความเหมาะสม และให้ประโยชน์มากสรุป: รูปแบบโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษา เป็นกลวิธีหนึ่งที่ช่วยในการส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยสุราเพื่อการป้องกันการติดสุราซ้ำได้มากขึ้น สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมพฤติกรรมการช่วยเหลือ เพื่อป้องกันการติดซ้ำให้แก่สมาชิกในครอบครัวผู้ป่วยติดสุราและสมาชิกในครอบครัวผู้ป่วยเสพติดกลุ่มอื่นๆ ในโอกาสต่อไป
ที่มา
วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2551, October-December ปีที่: 53 ฉบับที่ 4 หน้า 405-416
คำสำคัญ
Alcohol dependence patients relapsed prevention, Mental health education program, ความเชื่อด้านสุขภาพของสมาชิกในครอบครัว, ผู้ป่วยติดสุรา, พฤติกรรมการช่วยเหลือของสมาชิกในครอบครัว, โปรแกรมสุขภาพจิตศึกษา