การศีกษาเปรียบเทียบผลของการล้างจมูกด้วยสารละลายน้ำเกลือเข้มข้นร้อยละ 3 กับสารละลายน้ำเกลือชนิดเข้มข้นร้อยละ 0.9 ต่อการขับสารคัดหลั่งในโพรงจมูกและอาการทางจมูกในผู้ป่วยโพรงอากาศข้างจมูกอักเสบเฉียบพลัน
กรีฑา ม่วงทอง, ราม รังสินธุ์, วริศรา ภักดีไทย*
กองโสด ศอ นาสิกกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบหน้าที่ของการขับสารคัดหลั่งในโพรงจมูกและอาการทางจมูกของผู้ป่วยโรคโพรงอากาศข้างจมูกอักเสบหลังการรักษาระหว่างการไม่ล้างจมูก, ล้างจมูกด้วยสารละลายน้ำเกลือเข้มข้น ร้อยละ 0.9 และล้างจมูกด้วยสารละลายน้ำเกลือเข้มข้นร้อยละ 3 วัสดุและวิธีการ: ผู้ป่วยโพรงอากาศข้างจมูกอักเสบที่ห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอก กองโสด ศอ นาสิกกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ตั้งแต่มกราคม 2545 ถึงมิถุนายน 2546 จำนวน 90 คน ถูกแบ่งแบบสุ่ม เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 30 คน โดยกลุ่มแรกไม่ได้ล้างจมูก, กลุ่มที่สอง ล้างจมูกด้วยสารละลายน้ำเกลือเข้มข้นร้อยละ 0.9 และกลุ่มสุดท้าย ล้างจมูกด้วยสารละลายน้ำเกลือเข้มข้นร้อยละ 3 โดยทั้ง 3 กลุ่มจะได้รับยาปฏิชีวนะชนิดเดียวกัน, ได้รับการตรวจ saccharine test และตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับอาการไอและน้ำมูกก่อนการรักษาและหลังการรักษา 1 สัปดาห์ มีการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลแบบ intention to treat ด้วยสถิติ t test และ Pearson chisquare testผลการวิจัย: หลังการรักษา 1 สัปดาห์ พบว่า อาการทางจมูกของทั้ง 3 กลุ่มดีขึ้นกว่าก่อนการรักษา และการขับสารคัดหลั่งในโพรงจมูกของกลุ่มที่ล้างจมูกดีขึ้นกว่าก่อนการรักษา แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม พบว่า กลุ่มที่ล้างจมูกด้วยสารละลายน้ำเกลือไม่ว่าจะเข้มข้นร้อยละ 0.9 หรือเข้มข้นร้อยละ 3 ทำให้การขับสารคัดหลั่งในโพรงจมูกและอาการทางจมูกดีขึ้นกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ล้างจมูก และพบว่าไม่มีความแตกต่างกันของทั้งการขับสารคัดหลั่งในโพรงจมูกและอาการทางจมูกระหว่างกลุ่มที่ล้างจมูกด้วยสารละลายน้ำเกลือเข้มข้นร้อยละ 0.9 และเข้มข้นร้อยละ 3 สรุป: การล้างจมูกด้วยสารละลายน้ำเกลือทำให้การขับสารคัดหลั่งในโพรงจมูกและอาการทางจมูกดีขึ้น แต่การล้างจมูกด้วยสารละลายน้ำเกลือความเข้มข้นร้อยละ 3 ไม่ได้ทำให้การขับสารคัดหลั่งในโพรงจมูกและอาการทางจมูกดีขึ้นกว่าล้างจมูกด้วยสารละลายน้ำเกลือเข้มข้นร้อยละ 0.9
ที่มา
วารสารหู คอ จมูก และใบหน้า ปี 2547, ปีที่: 5 ฉบับที่ 2 หน้า 18-24
คำสำคัญ
Acute sinusitis, Saline irrigation