การตรวจดูหลังการป้ายกรดน้ำส้มเหมาะสมสำหรับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือไม่? : การศึกษาควบคุมแบบสุ่มด้วยการเปรียบเทียบในตัวอย่างเดียวกัน
กฤษฎา ถมยาบัตร
Department of Obstetrics and Gynecology, Nopparatrajathanee Hospital, Bankgok, Thailand
บทคัดย่อ
                 ความแม่นยำในการตรวจดูหลังการป้ายด้วยกรดน้ำส้ม (Visual inspection with acetic acid หรือ VIA) เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูกยังเป็นประเด็นที่สูติ-นรีแพทย์ยังคงโต้แย้งกัน ทำการศึกษาควบคุมแบบสุ่มด้วยการตรวจคัดกรองสองวิธีในสตรีคนเดียวกัน (crossover design) ซึ่งมีอายุระหว่าง 30 ถึง 60 ปี จำนวน 590 ราย ที่มารับการตรวจทางนรีเวชวิทยาระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ.2547 ถึงกันยายน พ.ศ.2549 โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยการสุ่มตัวอย่างเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 295 ราย ซึ่งในสตรีแต่ละกลุ่มจะได้รับการตรวจ Pap smear และ VIA เรียงลำดับสลับกันเพื่อให้มีการถ่วงความสมดุล (counterbalance) ของผลกระทบจากการตรวจก่อนหลัง สตรีที่มีผลการตรวจ Pap smear เป็น atypical squamous cells of undertermined significance (ASCUS) หรือรุนแรงกว่า และ/หรือผลการตรวจ VIA เป็นผลบวกจากการพบบริเวณสีขาวของกรดน้ำส้มใกล้หรือชิดกับบริเวณรอยต่อเยื่อบุปากมดลูกจะได้รับการส่งต่อไปตรวจส่องกล้องขยายภาพปากมดลูก (colposcopy) วัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบความแม่นยำระหว่าง Pap smear และ VIA ในการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก วิเคราะห์หาความไว ความจำเพาะ คำพยากรณ์บวก (PPV) ค่าพยากรณ์ลบ (NPV) สำหรับการตรวจพบรอยโรคมะเร็งชั้นผิวหนัง (cervical intraepithelial neoplasia หรือ CIN) ตั้งแต่ขั้นที่ 2 ขึ้นไป เปรียบเทียบความแม่นยำของการคัดกรองด้วยความแตกต่างระหว่างพื้นที่ได้ ROC (receiver-operating characteristic) curve ผลการศึกษาพบว่า ความไว (95% CI) ของ Pap smear และ VIA ในการตรวจหารอยโรคเยื่อบุผิวตั้งแต่ขั้นที่ 2 ขึ้นไปเท่ากับ ร้อยละ 93.8 (91.8, 95.7) และร้อยละ 50.0 (46.0, 54.0) ตามลำดับ; ความจำเพาะ (95% CI) เท่ากับ ร้อยละ 92.7 (90.6, 94.8) และร้อยละ 91.3 (89.0, 93.6) ตามลำดับ ค่าพยากรณ์บวก (95% CI) ของ Pap smear และ VIA เท่ากับร้อยละ 26.3 (22.8, 29.9) และร้อยละ 13.8 (11.0, 16.6) ตามลำดับ; ค่าพยากรณ์ลบ (95% CI) ของ Pap smear และ VIA เท่ากับร้อยละ 99.8 (99.5, 100) และร้อยละ 98.5 (97.5, 99.5) ตามลำดับ การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย VIA มีความแม่นยำที่ต่ำกว่า ร่วมกับมีค่าพยากรณ์บวกลดลงร้อยละ 47.5 เมื่อเทียบกับ Pap smear (ความแตกต่างภายใต้พื้นที่ ROC curves = 0.23; 95%CI 0.08, 0.38; p-value = 0.003) ค่าพยากรณ์บวก (ค่าพยากรณ์บวกสัมพัทธ์ = 0.52; 95% CI = 0.22, 1.21) และค่าพยากรณ์ลบ (ค่าพยากรณ์ลบสัมพัทธ์ = 0.99; 95% CI = 0.91, 1.08) ของ VIA ไม่แตกต่างทางสถิติกับ Pap smear สรุปได้ว่า VIA ไม่เหมาะสมในการนำมาเป็นเครื่องมือคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทดแทน Pap smear ในสตรีอายุ 30-60 ปี
ที่มา
วารสารกรมการแพทย์ ปี 2550, January-March ปีที่: 32 ฉบับที่ 1 หน้า 31-38
คำสำคัญ
Pap smear, VIA, การตรวจดูหลังการป้ายกรดน้ำสัม