การรั่วของถุงมือที่ใช้ในการเย็บแผลฝีเย็บจากการคลอดระหว่างการสวมถุงมือหนึ่งชั้นและสองชั้น
ธีรบูลย์ นิ่มอนุสสรณ์กุล
The Royal Crown Prince Detudom Hospital, Ubon Ratchathani
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการรั่วของถุงมือที่ใช้ในการเย็บแผลฝีเย็บจากการคลอด ระหว่างการสวมถุงมือหนึ่งชั้นและการสวมถุงมือสองชั้นที่ทั้งชั้นนอกและชั้นในรั่วในตำแหน่งที่ตรงกัน วิธีการ: สตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับการเย็บแผลฝีเย็บจากการคลอดจำนวน 437 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สวมถุงมือหนึ่งชั้น 216 คน และกลุ่มที่สวมถุงมือสองชั้น 221 คน และทำการทดสอบการรั่วของถุงมือด้วยการบรรจุน้ำ ภายหลังจากการเย็บแผลเสร็จผลการศึกษา: จากการศึกษาพบการรั่วของถุงมือที่ใช้ในการเย็บฝีเย็บในกลุ่มสวมถุงมือหนึ่งชั้น 11 คน (ร้อยละ 5.09) ในกลุ่มสวมถุงมือสองชั้นพบการรั่วของถุงมือชั้นนอก 15 คน (ร้อยละ 6.79) พบการรั่วของถุงมือชั้นใน 2 คน (ร้อยละ 0.9) และพบการรั่วของถุงมือทั้งชั้นนอกและชั้นในรั่วในตำแหน่งที่ตรงกัน 1 คน (ร้อยละ 0.45) เมื่อทดสอบทางสถิติพบว่าจำนวนการรั่วของถุงมือในการสวมถุงมือหนึ่งชั้นมากกว่าการรั่วของถุงมือในกลุ่มที่สวมถุงมือสองชั้น ที่ทั้งชั้นนอกและชั้นในรั่วในตำแหน่งที่ตรงกันอย่างมีนัยสำคัญ (P = 0.002) แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของจำนวนการรั่วระหว่างถุงมือหนึ่งชั้นและการรั่วของถุงมือชั้นนอกในกลุ่มที่สวมถุงมือสองชั้น นอกจากนี้ยังไม่พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญของการรั่วของถุงมือกับการรับรู้ว่าถุงมือรั่ว ระดับความลึกของแผลฝีเย็บ ระยะเวลาที่ใช้เย็บแผลและช่วงเวรที่เย็บแผลสรุป: การสวมถุงมือสองชั้นในการเย็บแผลฝีเย็บจากการคลอดสามารถลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสเลือดของผู้ป่วยเมื่อเปรียบเทียบกับการสวมถุงมือหนึ่งชั้นได้อย่างมีนัยสำคัญ
ที่มา
สรรพสิทธิเวชสาร ปี 2550, January-June ปีที่: 28 ฉบับที่ 1 หน้า 31-40
คำสำคัญ
Double gloving, Glove perforations, Periniorrhaphy, Single gloving, การรั่วของถุงมือ, การสวมถุงมือสองชั้น, การสวมถุงมือหนึ่งชั้น, การเย็บแผลฝีเย็บ