ผลการให้ความรู้และคำปรึกษาโดยเภสัชกรคลินิกแก่ผู้ป่วยนอกโรคเบาหวาน
รัฐพร โลหะวิศวพานิช, วราภณ วงศ์ถาวราวัฒน์, ศุภกิจ วงศ์วิวัฒนนุกิจ*
Department of Internal Medicine, King Chulalongkorn Memorial Hospital, Bangkok 10330. E-mail: supakit.w@chula.ac.th, Tel: 0-2218-8408, Fax: 0-2218-8403
บทคัดย่อ
                วัตถุประสงค์ของการวิจัยเชิงทดลองชนิด two-way mixed design นี้เพื่อประเมินของการให้ความรู้และคำปรึกษาโดยเภสัชกรคลินิกแก่ผู้ป่วยนอกโรคเบาหวานในด้าน 1) ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคและการรักษา 2) เจตคติต่อโรค 3) คุณภาพชีวิต 4) ความพึงพอใจ 5) ผลการรักษา 6) การใช้บริการสุขภาพ และ 7) ต้นทุนที่ใช้ในการดำเนินงาน ดำเนินการศึกษาที่คลินิกเบาหวานของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระหว่างเดือน สิงหาคม 2546 ถึงกุมภาพันธ์ 2547 ผู้เข้าร่วมวิจัย 145 ราย ถูกสุ่มและจับคู่ตามระดับน้ำตาลและคะแนนความรู้ โดยกลุ่มศึกษาได้รับความรู้และคำปรึกษาเป็นรายบุคคลจำนวน 71 ราย และกลุ่มควบคุมซึ่งไม่ได้รับบริการดังกล่าวจำนวน 74 ราย การประเมินผลใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์จำนวน 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 (ก่อนการให้ความรู้) ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 โดยครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ห่างกัน 3 เดือน ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม มีข้อมูลลักษณะทางประชากร ภาวะโรคและการดูแลตนเองและผลทางคลินิกเกี่ยวกับการควบคุมโรคไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ผลการวิจัยพบว่าการให้ความรู้และคำปรึกษามีผลต่อความรู้ เจตคติ คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพจิต ความพึงพอใจ ระดับน้ำตาลในเลือด และการใช้บริการสุขภาพของผู้ป่วยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) โดยเฉพาะการใช้บริการสุขภาพด้านการเข้ารักษาตัวแบบผู้ป่วยใน และการมารับบริการจากแผนฉุกเฉินของกลุ่มศึกษาต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) อย่างไรก็ตามไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติสำหรับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพกาย และระดับไขมันในเลือดผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม (p > 0.05) ส่วนต้นทุนที่ใช้ในการดำเนินงานให้ความรู้และคำปรึกษาแก่ผู้ป่วยกลุ่มศึกษาในงานวิจัยนี้ คิดเป็นจำนวนเงินตั้งแต่ 20.67-63.27 บาทต่อคนต่อครั้ง การให้ความรู้และคำปรึกษาโดยเภสัชกรคลินิกทำให้ผู้ป่วยมีความรู้ เจตคติ ความพึงพอใจ การควบคุมระดับน้ำตาล การใช้บริการสุขภาพ และคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพจิตดีขึ้น
ที่มา
วารสารวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2549, March ปีที่: 20 ฉบับที่ 1 หน้า 19-40
คำสำคัญ
Quality of life, Counseling, Diabetes, Education, คุณภาพชีวิต, เบาหวาน, Attitude, Clinical pharmacist, Knowledge, Outcome, Outpatients, การให้ความรู้, การให้คำปรึกษา, ความรู้, ผล, ผู้ป่วยนอก, เจตคติ, เภสัชกรคลินิก