การบริหารยาไอโซซอรไบด์โมโนไนเตรดทางปากกับความสามารถเยื่อบุผนังช่องท้องในการแลกเปลี่ยนของเสียและน้ำในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการรักษาทดแทนด้วยการฟอกช่องท้องแบบถาวร
สมชาย เอี่ยมอ่อง, เถลิงศักดิ์ กาญจนบุษย์*
Division of Nephrology, Department of Medicine, Chulalongkorn University Hospital, Bangkok 10330, Thailand. Phone&Fax: 0-2252-6920
บทคัดย่อ
พบว่าผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ได้รับการฟอกไตทดแทนด้วยการล้างช่องท้องถาวรอย่างไม่เพียงพอมีอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการตายสูง ดังนั้นจึงมีความพยายามที่จะเพิ่มความเพียงพอในการฟอกไตทางช่องท้อง โดยการบริหารยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนของเสียและน้ำของเยื่อบุผนังช่องท้อง นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการทดลองใช้ยาจำนวนมากแต่มีเพียงยา nitroprusside เท่านั้นที่มีหลายการศึกษายืนยันถึงความสำเร็จยาดังกล่าวออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดผ่านการเพิ่มขึ้นของ nitric oxide เช่นเดียวกับยาในกลุ่ม nitrates จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการแลกเปลี่ยนสสารต่าง ๆ ของเยื่อบุผนังช่องท้องในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการรักษาทดแทนด้วยการฟอกไตทางช่องท้องแบบถาวรของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก่อนและหลังการบริหารด้วยยา isosorbide 5-mononitrate (ISMN) ทางปาก การศึกษานี้เป็นการวิจัยแบบทดลองเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของเยื่อบุ ผนังช่องท้องในการขจัดของเสีย และน้ำในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกไตทดแทนทางช่องท้องถาวรในช่วงที่ได้รับยา ISMN และช่วงที่ได้รับยาหลอกจำนวนทั้งสิ้น 9 ราย ทุกรายจะได้รับทั้งยา ISMN ขนาด 20 มก. จำนวน 2 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 5 วัน และ ยาหลอก 2 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 5 วัน แต่เป็นคนละช่วงเวลากัน (cross over design) ทำการหยุดยาเดิม 7 วันก่อนที่จะให้ยาใหม่เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีผลของยาเก่าเหลืออยู่ก่อนที่จะได้รับยาใหม่ ผลการศึกษา การบริหารยา ISMN ทางปาก สามารถเพิ่ม 1) อัตราการขจัดของเสียที่มีโมเลกุลขนาดเล็กได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) วัดโดยมัธยฐานของ MTAC creatinine และ urate เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 และ 11 ตามลำดับ 2) อัตราการขจัดของเสียที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ วัดโดยมัธยฐานของ clearance ของ ß2 microglobulin, albumin และ immunoglobulin G เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) เชื่อว่ากลไกการเพิ่มขึ้นของอัตราการขจัดของเสีย เกิดจากการเพิ่มพื้นที่ผิวของเยื่อบุผนังช่องท้องในการแลกเปลี่ยนของเสียและน้ำ เนื่องจากสัมประสิทธิ์ในการกั้นขวางคงที่ อย่างไรก็ดีการบริหารยา ISMN ทางปากไม่ มีผลต่ออัตราการขจัดน้ำออกจากร่างกาย และไม่มีผลแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยสรุปการบริหารยา ISMN ทางปากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของเยื่อบุผนังช่องท้องในการแลกเปลี่ยนของเสียทั้งโมเลกุลขนาดเล็กและโมเลกุลขนาดใหญ่จากการเพิ่มพื้นที ่ผิวในการแลกเปลี่ยนสารและน้ำของเยื่อบุ ผนังช่องท้อง เชื่อว่าการบริหารยา ISMN ในระยะยาวจะสามารถเพิ่มความเพียงพอในการฟอกไตทางช่องท้องในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2549, February ปีที่: 89 ฉบับที่ 0 หน้า S129-137
คำสำคัญ
Fluid transport, CAPD, Isosorbide 5-mononitrate, MTAC, Peritoneal solute transport