ผลของยาสีฟันที่ผสมโปตัสเซียมไนเตรตและโซเดียวไบคาร์บอเนตต่อการลดอาการเสียวฟัน
ประทีป พันธุมวนิช, สาลิกา ตันตระวาณิชย์, สุวภาพ ประภากมล*Department of Periodontology, Faculty of Dentistry, Chulalongkorn University. Tel: 02-2186850 Fax: 02-2188851 E-mail: psuvapa04@yahoo.com
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของยาสีฟันที่มีโปตัสเซียมไนเตรตร้อยละ 5 และโซเดียมไบคาร์บอเนตร้อยละ 54 ในการลดอาการเสียวฟัน โดยเปรียบเทียบกับยาสีฟันควบคุมบวกซึ่งมีสตรอนเซียมคลอไรด์ร้อยละ 10 และยาสีฟันควบคุมลบที่ไม่มีตัวยาลดอาการเสียวฟัน การวิจัยนี้ทำในคนงานอาสาสมัครในโรงงานอุตสาหกรรม โดยสุ่มตัวอย่างชายและหญิง 124 คน ศึกษาติดตามเป็นเวลา 2 เดือนติดต่อกัน อาสาสมัครมีอายุระหว่าง 18-49 ปี มีฟันที่เสียวคนละ 1-4 ซี่ รวมทั้งหมด 233 ซี่ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม โดยการสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ ใช้คะแนนความเสียวฟัน ณ จุดเริ่มต้น กลุ่มทดลองมี 42 คน ฟัน 81 ซี่ กลุ่มควบคุมบวกมี 44 คน ฟัน 83 ซี่ และกลุ่มควบคุมลบมี 38 คน ฟัน 69 ซี่ ทำการทดสอบอาการเสียวฟัน 3 วิธี คือ การทดสอบโดยการเป่าลมเย็นอุณหภูมิ 20-5 องศาเซลเซียสบนผิวฟัน ลดความเย็นที่ละ 1 องศาเซลเซียส การทดสอบแรงกดบนผิวฟันใช้อิเล็กทรกนิก เพรสเชอร์ เซนซิทีฟ โพรบ (electronic pressure sensitive probe) ที่ปรับได้ตั้งแต่ 10-70 กรัม เพิ่มขึ้นครั้งละ 10 กรัม และอาสาสมัครให้คะแนนความเสียวฟันเป็น 3 ระดับ ทำการทดสอบอาการเสียวฟันในสัปดาห์ที่ 0 2 4 และ 8 ของการใช้ยาสีฟัน แจกยาสีฟันและแปรงสีฟันให้อาสาสมัคร โดยทั้งผู้วิจัยและอาสาสมัครไม่ทราบชนิดของยาสีฟัน ให้แปรงฟันตามวิธีที่เคยแปรงวันละ 2 ครั้ง รวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์ทางสถิติ เมื่อทดสอบด้วยแรงกดและการเป่าลมเย็นบนผิวฟันพบว่า กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมบวกมีอาการเสียวฟันลดลงทุกสัปดาห์ ทื่ใช้ยาสีฟันจนถึงสัปดาห์ที่ 8 อาการเสียวฟันลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมลบ แต่ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ (p > .05) ผลจากคะแนนความเสียวฟันพบว่า ยาสีฟันทดลองลดอาการเสียวฟันได้มากกว่ายาสีฟันควบคุมบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงว่า ยาสีฟันที่มีโปตัสเซียมไนเตรตร้อยละ 5 และโซเดียมไบคาร์บอเนตร้อยละ 54 มีประสิทธิผลในการลดอาการเสียวฟัน ไม่ต่างจากยาสีฟันที่มีสตรอนเซียมคลอไรด์ร้อยละ 10 เมื่อทดสอบด้วยการใช้แรงกดและการเป่าลมเย็นบนผิวฟัน แต่จะมีผลดีกว่ากลุ่มควบคุมบวกอย่างมีนัยสำคัญเมื่อใช้การให้คะแนนความเสียวฟัน
ที่มา
วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์ ปี 2549, May-June
ปีที่: 56 ฉบับที่ 3 หน้า 157-168
คำสำคัญ
Potassium nitrate, Strontium chloride, Tooth hypersensitivity, Toothpaste