ผลของการกระตุ้นเส้นประสาทผ่านทางผิวหนังด้วยกระแสไฟฟ้าต่อความเจ็บปวดจากฟันที่ถูกชักนำให้เกิดขึ้นจากการทดลอง
นพคุณ วงษ์สวรรค์, มาลินี สูอำพัน*, สุรินทร์ สูอำพัน, อิงบุญ เทียนศิริ
Department of Hospital Dentistry, Faculty of Dentistry, Mahidol University, Yothi Street, Bangkok 10400, Thailand.
บทคัดย่อ
                การทดลองนี้เพื่อประเมินผลการกระตุ้นเส้นประสาทผ่านทางผิวหนังด้วยกระแสไฟฟ้าต่อความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการกระตุ้นฟันด้วยกระแสไฟฟ้าในมนุษย์ เป็นการทดลองชนิดดับเบิ้ลบลายด์ โดยใช้ฟันหน้าบนซี่ใกล้กลางจำนวน 18 ซี่ใน 12 คน แบ่งการทดลองออกเป็น 3  กลุ่ม ในผู้รับการทดลองแต่ละคนจะได้รับการทดลองทั้ง 3 ชนิด โดยเว้นระยะการทดลองระหว่างกลุ่มเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ฟันแต่ละซี่ถูกกระตุ้นด้วยเครื่องกระตุ้นเส้นประสาทในเนื้อฟัน ใช้สายไฟขนาดเล็กมีลวดทองแดงเดี่ยวเป็นขั้วไฟฟ้า โดยให้ปลายข้างหนึ่งของสายไฟต่อกับขั้วไฟฟ้าด้านทดสอบของเครื่อง ปลายอีกข้างยึดติดกับฟันที่ใช้ทดสอบด้วยกระดาษกาวสองด้าน ใช้ยาสีฟันเพื่อช่วยเพิ่มหน้าสัมผัสกระแสไฟฟ้าระหว่างขั้วไฟฟ้าและผิวของฟัน ให้ผู้รับการทดลองจับสายไฟฟ้าอีกเส้นซึ่งต่อกับขั้วดินของเครื่องทดสอบ บันทึกปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ใช้กระตุ้นโดยการเพิ่มกระแสไฟฟ้าทีละน้อยจนกระทั่งผู้รับการทดลองเริ่มรู้สึกเจ็บปวด ใช้ปริมาณกระแสไฟฟ้า 1.2 เท่านี้กระตุ้นฟันในเวลา 15 วินาที ให้ผู้รับการทดลองประเมินความเจ็บปวดที่ได้รับด้วย VAS (visual analog scale) 100 มม. หลังจากนั้น 20 นาที ทำการทดลองโดยใช้ปริมาณกระแสไฟฟ้า 1.2 เท่านี้กระตุ้นฟันในกลุ่มที่หนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มควบคุมโดยไม่มีการใช้เครื่องเทนส์ ในกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มทดลองหลอก ทำการทดลองเหมือนกลุ่มที่หนึ่งทุกประการ แต่ก่อนกระตุ้นฟันครั้งที่สอง ให้แปะติดแผ่นอิเลคโทรดซึ่งเชื่อมต่อกับเครื่องเทนส์ ที่บริเวณภายนอกปากของผู้รับการทดลองแต่ปิดเครื่องเทนส์ ในกลุ่มที่สามซึ่งเป็นกลุ่มทดลอง ทำการทดลองเหมือนกลุ่มที่สองทุกประการแต่เปิดให้เครื่องเทนส์ทำงาน โดยตั้งความถี่ของเครื่องเทนส์เท่ากับ 50 ครั้งต่อวินาที ค่าเฉลี่ยของ VAS จากการกระตุ้นครั้งแรกก่อนทดลองของกลุ่มที่หนึ่ง กลุ่มที่สอง และกลุ่มที่สาม มีค่า47.6 ± 17.7, 53.9 ± 15.1 และ 54.4 ± 15.7 ตามลำดับ สำหรับค่าเฉลี่ยของ VAS จากการกระตุ้นครั้งที่สอง มีค่า 47.5 ± 18.8, 49.7 ± 17.2 และ 32.1 ± 25.2 ตามลำดับ พบว่า ในกลุ่มที่เปิดใช้เครื่องเทนส์ค่าเฉลี่ยของ VAS ก่อนและหลังการเปิดใช้เครื่องเทนส์มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุปว่าการใช้เครื่องเทนส์มีผลในการลดความเจ็บปวดของฟันที่เกิดขึ้นจากการกระตุ้นฟันด้วยกระแสไฟฟ้า
ที่มา
วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์มหิดล ปี 2545, January-April ปีที่: 22 ฉบับที่ 1 หน้า 29-34
คำสำคัญ
Analgesia, TENS, Dental pain, Electrical tooth pulp stimulation