การศึกษาประสิทธิผลของครีมน้ำมันตะไคร้ในการรักษาโรคกลาก
ทวีศักดิ์ สุนทรธรศาสตร์, พรพรรณ ห้าวหาญ, พรรณแข มไหสวริยะ*, รัมภา หลินปิยวรรณ์, อังคณา ฉายประเสริฐ, ไฉน เหมือนประสาท
Department of Dermatology, Faculty of Medicine Siriraj Hospital, Mahidol University
บทคัดย่อ
                คณะผู้วิจัยได้ศึกษาประสิทธิผลของครีมน้ำมันตะไคร้ (lemon grass oil cream) ในการรักษากลากที่ผิวหนังยกเว้นกลากที่เล็บและหนังศีรษะ ในผู้ป่วยจำนวน 81 ราย โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มแบบสุ่ม ผู้ป่วยจำนวน 43 รายได้รับ clotrimazole cream และ 38 รายได้รับครีมน้ำมันตะไคร้ในความเข้มข้นร้อยละ 2.5 ทาวันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) ติดต่อกันนาน 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการตรวจและบันทึกรอยโรค ขูดขุยเพื่อตรวจเชื้อราโดยวิธี KOH preparation และเพาะเชื้อก่อนรักษาและหลังรักษา 2 และ 4 สัปดาห์ ตามลำดับ มีผู้ป่วยจำนวน 25 ราย คิดเป็นร้อยละ 30.9 ที่ได้รับการรักษาไม่ครบถ้วนเนื่องจาก 24 รายไม่มาติดต่อตามนัด และผู้ป่วยในกลุ่มน้ำมันตะไคร้ 1 รายต้องหยุดการรักษาเนื่องจากเกิด contact dermatitis ในบริเวณที่ทายา จึงเหลือผู้ป่วยที่สามารถประเมินผลการรักษาได้เพียง 56 ราย เป็นกลุ่มที่ได้รับ clotrimazole 30 ราย รักษาหายร้อยละ 53.3 และกลุ่มที่ได้รับครีมน้ำมันตะไคร้ 26 ราย รักษาหายร้อยละ 26.9 แต่ผู้ป่วยทุกรายในกลุ่มหลังนี้มีอาการทางคลินิกทุเลาแม้ว่าจะตรวจพบเชื้อด้วยวิธี KOH และ/หรือวิธีการเพาะเชื้อ ไม่พบพิษและผลข้างเคียงที่ร้ายแรงจากการรักษา เนื่องจาก citral ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ต่อเชื้อกลาก เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากใบตะไคร้ ผลของอุณหภูมิอากาศที่สูงของประเทศไทยอาจมีส่วนทำให้ความเข้มข้นของสารนี้ลดลงเมื่อนำมาใช้ทาในการรักษากลากทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาไม่ดีเท่าเมื่อทำการศึกษาในห้องทดลอง ซึ่งจำเป็นต้องทำการศึกษาต่อไป
ที่มา
สารศิริราช ปี 2544, September ปีที่: 53 ฉบับที่ 9 หน้า 647-651