ผลของโปรแกรมการให้ข้อมูลโดยผ่านสื่อวิดิทัศน์ต่อความกลัวของเด็กวัยก่อนเรียนก่อนการได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ
ชื่นจิตต์ สมจิตต์*, รัตนาวดี ชอนตะวัน, สุธิศา ล่ามช้าง
Phrae Hospital, Phrae Province
บทคัดย่อ
                การได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำเป็นกิจกรรมการรักษาพยาบาลที่สร้างความเจ็บปวดและความกลัวให้กับเด็กวัยก่อนเรียน การเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับกิจกรรมการรักษาพยาบาลที่จะได้รับอาจทำให้เด็กวัยก่อนเรียนเกิดการจินตนาการที่เกินจริง และเกิดความกลัวมากขึ้นจนอาจไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ให้การรักษาพยาบาล                วัตถุประสงค์ของการวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้ เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการให้ข้อมูลโดยผ่านสื่อวีดีทัศน์ต่อความกลัวการได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำของเด็กวัยก่อนเรียน กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา คือ เด็กอายุ 3-6 ปีที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลแพร่และได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำจำนวน 30 ราย สุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละเท่ากัน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการให้ข้อมูลโดยผ่านสื่อวิดิทัศน์ กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย ได้แก่โปรแกรมการให้ข้อมูลโดยผ่านสื่อวิดิทัศน์ที่ผู้วิจัยนำไปทดลองใช้กับผู้ป่วยเด็กวัยก่อนเรียนที่มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 5 ราย เพื่อดูความเหมาะสม เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบสังเกตพฤติกรรมความกลัวการได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำของเด็กวัยก่อนเรียนที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น จากการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง คำนวณค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหามีค่าเท่ากับ .80 หาค่าความเชื่อมั่นระหว่างผู้สังเกตมีค่าเท่ากับ 1.00 และแบบประเมินระดับความกลัวต่อการได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำของเด็กวัยเรียน ซึ่งผู้วิจัยดัดแปลงจากแบบประเมินความกลัวด้วยตนเอง (self report) ของเด็กต่อการฉีดยาของนฤมล ธีระรังสิกุล (2532) ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหามีค่าเท่ากับ 1 หาค่าความเชื่อมั่นโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค มีค่าเท่ากับ .95 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา สถิติพิชเชอร์ สถิติครัชคาล-วอลลิส สถิติวิลคอกซัน สถิติทดสอบที และสถิติแมน-วิทนีย์ ยู                ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้                1. คะแนนการประเมินด้วยตนเองต่อความกลัวการได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำของผู้ป่วยเด็กวัยก่อนเรียนกลุ่มทดลองก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการให้ข้อมูลโดยผ่านสื่อวิดิทัศน์ ไม่แตกต่างกัน                2.  คะแนนการประเมินด้วยตนเองต่อความกลัวการได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำของผู้ป่วยเด็กวัยก่อนเรียนระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ไม่แตกต่างกัน                3. คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมความกลัวต่อการได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำของผู้ป่วยเด็กวัยก่อนเรียนระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยรวมไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการจับยึดเกาะ กอดผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่หรือสิ่งของ ลักษณะการเข้าห้องปฏิบัติการ และพฤติกรรมการเคลื่อนไหวที่แสดงถึงการไม่ให้ความร่วมมือของกลุ่มทดลองน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05                ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การให้ข้อมูลแก่เด็กวัยก่อนเรียน ก่อนการได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ อาจช่วยให้เด็กวัยก่อนเรียนมีพฤติกรรมร่วมมือในการรักษาพยาบาล
ที่มา
พยาบาลสาร ปี 2547, July-September ปีที่: 31 ฉบับที่ 3 หน้า 46-57
คำสำคัญ
Fear of intravenous infusion, Preschooler, Vediotape information program, ความกลัวการได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ, เด็กก่อนวัยเรียน, โปรแกรมการให้ข้อมูลโดยผ่านสื่อวีดีทัศน์