การพัฒนาเครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไทยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
จันทนา หล่อตจะกูล*, จินตนา ยูนิพันธุ์, ชนกพร จิตปัญญา
Faculty of Nursing, Chulalongkorn University, Bangkok, Thailand
บทคัดย่อ
                การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและทดสอบเครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไทยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด รวมทั้งการหาค่าเกณฑ์ปกติคุณภาพชีวิต โครงสร้างของคุณภาพชีวิตประกอบด้วยหกองค์ประกอบได้จากการศึกษาเชิงคุณภาพของผู้ป่วยไทยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 17 คน ข้อคำถาม 68 ข้อ ถูกพัฒนาขึ้น และได้รับการตรวจสอบความตรงปรากฏ โดยผู้เชี่ยวชาญ 13 ท่าน จากหลากหลายสาขาวิชา เครื่องมือนี้ปรับตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเหลือ 62 ข้อ และทดสอบความเที่ยงมีค่าสัมประสิทธิ์ ครอนบาชอัลฟ่า เท่ากับ .93                การรวบรวมข้อมูล เก็บจากผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จำนวน 526 คน จากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ตอบแบบสอบถาม 3 ฉบับ คือ แบบวัดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไทย แบบวัดสุขภาพเอส เอฟ 36 และ แบบวัดคุณภาพชีวิตของแมคนิวส์ ความตรงเชิงโครงสร้าง ทดสอบด้วยวิธีการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ                ผลการวิจัยได้เครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไทยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่พัฒนาขึ้นมี 45 คำถาม 9 องค์ประกอบ ได้แก่ อาการของโรคและภาวะแทรกซ้อน จิตใจที่สบาย ความผูกพันในครอบครัว การปรับกิจกรรมประจำวัน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สุขภาพทางจิตวิญญาณ การเข้าสังคมความสามารถพื้นฐานทางกายและพลังใจ ค่าความเที่ยงของเครื่องมือ ค่าสัมประสิทธิ์ ครอนบาชอัลฟ่า ได้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ เท่ากับ .65 เกณฑ์ปกติของคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไทยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มี 5 ระดับ คือ ดีมาก ดี ปานกลาง ต่ำ และต่ำมาก                การวิจัยนี้ พบว่า มีหลักฐานเพียงพอในการสนับสนุน ความตรง และความเที่ยงของเครื่องมือวัดคุณภาพวัดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไทยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และมีเกณฑ์ปกติของคุณภาพชีวิต เครื่องมือนี้มีคุณสมบัติเพียงพอสามารถใช้วัดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไทยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในการศึกษาทางคลินิก หรือการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคุณภาพการบริการพยาบาลในอนาคตได้
ที่มา
วารสารวิจัยทางการพยาบาล ปี 2550, July - September ปีที่: 11 ฉบับที่ 3 หน้า 166-176
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Instrument development, Myocardial infarction, Psychometric property testing, การพัฒนาเครื่องมือ, ผู้ป่วยไทยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด