ผลของการฝึกบริหารกายด้วยฤาษีดัดตนต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจในเพศหญิง
วีระพงษ์ ชิดนอก, โอปอร์ วีรพันธุ์, จันทร์จิรา วสุนธราวัฒน์, ปริญญา เลิศสินไทย, เอกวีร์ ศรีปริวุฒิ
Department of Physical Therapy, Faculty of Allied Health Sciences, Naresuan University, Pitsanuloke 65000. Email:weerapongch@nu.ac.th
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการฝึกบริหารกายด้วยฤาษีดัดตนต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจในเพศหญิงสุขภาพดี  จำนวน 29  คน  อายุเฉลี่ย 20.3 + 0.14 ปี  โดยสุ่มจับฉลากผู้ร่วมวิจัยออกเป็น  2  กลุ่ม  คือกลุ่มควบคุม  จำนวน  14  คน  และกลุ่มฝึกฤาษีดัดตน  จำนวน 15  คน  กลุ่มควบคุมทำกิจวัตรประจำวันตามปกติแต่ไม่ได้รับการฝึก  ส่วนกลุ่มฝึกฤาษีดัดตน  ทำการฝึกฤาษีดัดตนจำนวน  15  ท่า ๆ  ละ  5  ครั้ง  เป็นเวลา  30  นาที  สัปดาห์ละ 3 ครั้ง  ระยะเวลา  4  สัปดาห์  ทำการวัดค่าแรงดันหายใจเข้าสูงสุด  (maximum  inspiratory  pressure ; MIP)  และแรงดันหายใจออกสูงสุด  (maximum  expiratory  pressure ; MEP) โดยใช้เครื่องวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจในช่วงก่อนการศึกษาและเมื่อฝึกครบ  4  สัปดาห์   ผลการศึกษาพบว่าก่อนทำการศึกษา  ผู้ร่วมวิจัยทั้งสองกลุ่มมีคุณลักษณะทางกายประกอบด้วยอายุ  น้ำหนัก  ส่วนสูง  เปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย  ดัชนีมวลกาย  และค่าความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจไม่แตกต่างกัน  (P > 0.05)  และหลังการฝึกครบ  4  สัปดาห์   พบว่ากลุ่มฝึกฤาษีดัดตนมีค่า  MIP  เท่ากับ 80.73 + 3.26  cmH2O  ค่า MEP  เท่ากับ  96.33 + 3.19  cmH2O  ค่าแรงดันหายใจเข้าสูงสุดสัมพัทธ์  (relative  MIP)  เท่ากับ 1.62  + 0.05  cmH2O/ kg  และค่าแรงดันหายใจออกสูงสุดสัมพัทธ์  (relative  MEP)  เท่ากับ 1.94  + 0.07  cmH2O/ kg  มากกว่ากลุ่มควบคุม  (MIP = 66.57 + 3.46 cmH2O ; MEP = 75.07 + 2.28 cmH2O ; relative  MIP = 1.33 + 0.04 cmH2O/ kg  และ  relative  MEP = 1.51 + 0.04 cmH2O/ kg)  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  ( p < 0.01)  เมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังฝึกพบว่ากลุ่มฝึกฤาษีดัดตนมีค่า  MIP  (ก่อนฝึก = 68.60 + 2.95 และหลังฝึกครบ  4  สัปดาห์ = 80.73 + 3.26 cmH2O)  ค่า MEP  (ก่อนฝึก = 80.60 + 3.10 และหลังฝึกครบ  4  สัปดาห์ = 96.33 + 3.19 cmH2O)  ค่า relative  MIP (ก่อนฝึก = 1.37 + 0.05 และหลังฝึกครบ  4  สัปดาห์ = 1.62 + 0.05 cmH2O/ kg)  ค่า relative  MEP (ก่อนฝึก = 1.61 + 0.06 และหลังฝึกครบ  4  สัปดาห์ = 1.94 + 0.07 cmH2O/ kg)  เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( p < 0.01)  ส่วนกลุ่มควบคุมพบว่าไม่มีความแตกต่างกัน ( p > 0.05)  ระหว่างก่อนฝึกและหลังฝึกครบ  4  สัปดาห์  การศึกษานี้สรุปว่าผลของการฝึกฤาษีดัดตน  สามารถเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจได้ในเพศหญิงสุขภาพดี
ที่มา
วารสารกายภาพบำบัด ปี 2550, September-December ปีที่: 29 ฉบับที่ 3 หน้า 126-136
คำสำคัญ
Maximum expiratory pressure, Maximum inspiratory pressure, Ruesi-Dudton-Stretching-Exercise