ความคุ้มทุนโครงการควบคุมและป้องกันโรคเลือดจางธาลัสซีเมียในสตรีตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลลำปาง
ดารินทร์ อโรร่า, ต่อพงศ์ สงวนเสริมศรี, นภาพร นวลจันทร์, มุกดา เรืองศรีชัย, ศิริวรรณ แสงทอง, สุภาพร ยิ่งชาญกุล, สุวิทย์ พิชยาพันธ์
Department of Obstetrics and Gynecology, Lampang Hospital
บทคัดย่อ
        ศึกษาความคุ้มทุนโครงการควบคุมและป้องกันโรคเลือดจางธาลัสซีเมียในสตรีตั้งครรภ์และคู่สมรสที่มาฝากครรภ์ในคลินิกฝากครรภ์โรงพยาบาลลำปางที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 18 สัปดาห์ ตั้งแต่ ปีงบประมาณ 2542-2545 มีสตรีตั้งครรภ์ได้รับการตรวจเลือดคัดกรองเบื้องต้นจำนวน 3,523 ราย พบผลตรวจผิดปกติ 1,259 ราย (ร้อยละ 36) สามารถติดตามสามีมาตรวจเลือดได้ 975 ราย (ร้อยละ 77) มีผลตรวจผิดปกติ 360 ราย (ร้อยละ 37) คู่สมรสที่ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงต่อโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงที่ได้รับการให้คำปรึกษาอย่างละเอียดและลงลายมือชื่อในใบยินยอมแล้ว ได้รับการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ จำนวน 138 ราย ผลตรวจพบทารกในครรภ์เป็นโรคเลือดจางชนิดรุนแรง จำนวน 32 ราย (ร้อยละ 23.2) ยุติการตั้งครรภ์ 29 ราย มีค่าใช้จ่ายทั้งหมดทุกขั้นตอนรวม 609,880 บาท เปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในกรณีที่บุตรทั้ง 18 ราย มีชีวิตอยู่ตลอดอายุขัยจะต้องเสียประมาณ 29,166,000 บาท ค่าใช้จ่ายในโครงการควบคุมและป้องกันโรคเลือดจางธาลัสซีเมียในสตรีตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลลำปาง 4 ปี คิดเป็นร้อยละ 2.1 ของค่าใช้จ่ายที่คำนวณหากทารกที่เป็นโรคมีชีวิตอยู่ตลอดอายุขัย ซึ่งถือว่ามีความคุ้มทุน 
ที่มา
วารสารกรมการแพทย์ ปี 2545, September ปีที่: 27 ฉบับที่ 9 หน้า 398-404
คำสำคัญ
cost-effectiveness, Thalassemia, Lampang hospital, ความได้คุ้มทุน, ธาลัสซีเมีย, โรงพยาบาลลำปาง