ต้นทุน-ผลได้ของการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย โดยเน้นการควบคุมในสุนัข
สุเมธ องค์วรรณดี, ประวิทย์ ชุมเกษียร, นราทิพย์ ชุติวงศ์, วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร
โรงพยาบาลแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
บทคัดย่อ
                โรคพิษสุนัขบ้าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากยังไม่มีทางรักษาโรคนี้ ผู้ป่วยต้องเสียชีวิตทุกราย โดยมีสุนัขเป็นต้นเหตุที่สำคัญ องค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำว่า หาสามารถฉีดวัคซีนให้แก่สุนัขได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนสุนัขที่มีในพื้นที่นั้นๆ จะช่วยให้เกิดภูมิต้านทางหมู่ สามารถป้องกันการติดโรคในสุนัขรวมถึงคนได้อีกทางหนึ่ง การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะวิเคราะห์ต้นทุนในการควบคุมโรคในสุนัขและการป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ที่สัมผัสโรคแล้ว โดยศึกษาจากข้อมูลทุติยภูมิที่ได้มีการรวบรวมเมื่อ พ.ศ. 2543 และผู้วิจัยได้ศึกษาเพิ่มเติมโดยสมมติแบบจำลองกรณีประเทศไทยควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าโดยเน้นการควบคุมในสุนัข ระหว่าง พ.ศ. 2544- 2546 โดยประมาณค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการควบคุมโรคในสุนัข และประมาณผลที่จะได้รับ คือ การเสียชีวิตในมนุษย์ที่ลดลงหรือป้องกันได้                ผลการศึกษาพบว่าเมื่อ พ.ศ.2543 ประเทศไทยได้ใช้จ่ายเพื่อควบคุมโรคทั้งในสุนัขและคนไปทั้งสิ้น 1,188,446,635 บาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมป้องกันโรคในสัตว์ร้อยละ 32 และการให้การรักษาพยาบาลคนหลังสัมผัสโรคร้อยละ 68 โดยต้นทุนในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่สุนัข เฉลี่ยเท่ากับ 46.54 บาทต่อครั้ง ในขณะที่การฉีดวัคซีนในคน (หลังการสัมผัสโรคแล้ว) เฉลี่ยเท่ากับ 480.08 บาทต่อครั้ง ต้นทุนการตรวจชันสูตรโรคในสัตว์ (การตรวจหัวสุนัข) เฉลี่ย 2,897.72 บาทต่อตัวอย่าง                การศึกษาเพิ่มเติมจากแบบจำลองพบว่า ในการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าด้วยการฉีดวัคซีนให้แก่สุนัขไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 เป็นเวลา 3 ปี ติดต่อกัน (ระหว่าง พ.ศ.2544-2546) และจำนวนประชากรสุนัขที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ประเทศไทยจะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีก 99,321,106 บาท ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าระหว่าง พ.ศ. 2544 -2546 ลดลงจำนวน 27ม 21 และ 25 ราย ตามลำดับ โดยไม่มีคนเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเลยใน พ.ศ. 2546 ผลได้จากการลงทุนครั้งนี้คือ ผลต่าง (incremental benefit) ของรายได้ที่สูญเสียไป (income foregone) ที่สามารถได้คืนมาจากการตายลดลง ใช้หลักทุนมนุษย์ (human capital approach) กับรายจ่ายในโครงการควบคุมโดยเน้นในสุนัข ซึ่งเท่ากับ 202,674,921 บาท ณ มูลค่า พ.ศ. 2543 เมื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนผลได้ต่อต้นทุนของโครงการพบว่า เท่ากับ 2.04 (เมื่อใช้อัตราส่วนร้อยละ 3) และ 1.36 (เมื่อใช้อัตราส่วนร้อยละ 5)
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2546, November-December ปีที่: 12 ฉบับที่ 6 หน้า 937-948
คำสำคัญ
Thailand, Cost benefit analysis, Intensified dog vaccination program, Rabies control, การควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า, การควบคุมในสุนัข, การวิเคราะห์ต้นทุน-ผลได้, ประเทศไทย