ประสิทธิภาพของยาเศฟไทรอะโซนเปรียบเทียบกับยาเพนิศิลลินในการรักษาผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรสิส
ธนชัย พนาวุฒิ, สมนึก ดำรงกิจชัยพร, อัษฎา วิภากุล, วัฒนชัย สุแสงรัตน์, กาญจนา โถมนาการ, วิไลวรรณ แสนโฮม, บัณฑิต ถิ่นคำรพ
Department of Medicine, Khon Kaen Hospital, Khon Kaen, Thailand
บทคัดย่อ
                เป็นการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาเศฟไทรอะโซนและเพนิศิลลินในการรักษาผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรสิสอาการรุนแรง โดยการวิจัยทดลองแบบสุ่มตัวอย่าง (randomized controlled trial)ที่กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลขอนแก่น ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2543 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2544 รวมรวมผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรสิสทั้งสิ้น 173 รายแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับยาเศฟไทรอะโซน 1 กรัมทางหลอดเลือดดำวันละครั้งนาน 7 วัน จำนวน 87 ราย อีกกลุ่มหนึ่งได้รับยาเพนิศิลลิน 1.5 ล้านหน่วยทางหลอดเลือดดำวันละ 4 ครั้งนาน 7 วัน จำนวน 86 ราย ระยะเวลาที่ไข้ลดลงเป็นผลการรักษาหลักที่ใช้ในการเปรียบเทียบ โดยการวิเคราะห์ระยะปลอดเหตุการณ์ (survival analysis) ผลการศึกษาพบว่า ค่ามัธยฐานของระยะเวลาที่ไข้ลงของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม เป็น 3 วัน ช่วงเชื่อมั่นร้อยละ 95 ของค่ามัธยฐานเป็น 0.5 วัน (log-rank test p-value = 0.42) มีผู้ป่วยเสียชีวิต 10 ราย (กลุ่มละ 5 ราย) นอกจากนี้พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของการฟื้นตัวของความผิดปรกติอื่นๆ ได้แก่ ระยะเวลาการฟื้นตัวของภาวะไตวายเฉียบพลัน (ความเสี่ยง หรือ relative risk [RR] 1.3, 95% CI =0.7, 2.2) ระยะเวลาที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (RR= 0.9, 95% CI = 0.7, 1.3) สรุปได้ว่า การใช้ยาเศฟไทรอะโซนและยาเพนิศิลลินทางหลอดเลือดดำมีประสิทธิภาพดีเท่ากันในการรักษาผู้ป่วย โรคเลปโตสไปโรสิสอาการรุนแรง แต่ยาเศฟไทรอะโซนวันละครั้งอย่างต่อเนื่องสามารถออกฤทธิ์ครอบคลุมได้มากกว่ายาเพนิศิลลิน
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2546, May-June ปีที่: 12 ฉบับที่ 3 หน้า 376-386
คำสำคัญ
Efficacy, Leptospirosis, เลปโตสไปโรสิส, Ceftriaxone, Penicillin G, ประสิทธิภาพ, เพนิศิลลิน, เศฟไทรอะโซน