ประสิทธิผลและความเหมาะสมของการประเมิน LEPTO-SCOPE ในการลดความรุนแรงของผู้ป่วยสงสัยโรคเลปโตสไปโรสิสที่ส่งรักษาต่อโรงพยาบาลขอนแก่น: การวิจัยแบบสุ่มชั้นภูมิและมีกลุ่มเปรียบเทียบในจังหวัดขอนแก่น
บัณฑิต ถิ่นคำรพ, ธนชัย พนาวุฒิ*, ปริศนา วงศ์วีรขันธ์, วรรณา ปิยะเศวตกุล, วัฒนชัย สุแสงรัตน์
Department of Medicine, Khon Kaen Hospital, Khon Kaen, Thailand
บทคัดย่อ
                เป็นการศึกษาเพื่อทดสอบประสิทธิผลและความเหมาะสมของการใช้ LEPTO-SCORE ในการลดความรุนแรงของผู้ป่วยสงสัยโรคเลปโตสไปโรสิสที่ส่งรักษาต่อโรงพยาบาลขอนแก่น เป็นการวิจัยเชิงทดลองโดยการสุ่มแบบขั้นภูมิและมีกลุ่มเปรียบเทียบ (Randomized-controlled field trial) ที่โรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดขอนแก่น 4 แห่ง รวบรวมผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยเบื้องต้นเป็นโรคเลปโตสไปโรสิสที่รักษาในโรงพยาบาลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2543 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 โรงพยาบาลในกลุ่ม ทดลองบันทึกค่าคะแนน LEPTO-SCORE แรกรับและที่เวลา 12 ชั่วโมง วัดระดับความรุนแรงของผู้ป่วยส่งต่อโดยใช้การประเมิน Modified APACHE II ที่รพ. ขอนแก่น ใช้การทดสอบค่าทีในการเปรียบเทียบความแตกต่างค่าเฉลี่ยคะแนนของ 2 กลุ่ม และการทดสอบไคสแควร์ในการเปรียบเทียบความเหมาะสมของการส่งต่อ ผู้ป่วยทั้งสิ้น 605 ราย จากกลุ่มทดลอง 241 ราย (39.4%) กลุ่มควบคุม 367 ราย (60.4%) เป็นชาย 413 ราย (67.9%) อายุเฉลี่ย 38 ปี และร้อยละ 86.7 มีอาชีพทำนา ทั้ง 2 กลุ่มมีลักษณะเป็นฐานและอาการทางคลินิกใกล้เคียงกัน ผู้ป่วยได้รับการยืนยันเป็นโรคเลปโตสไปโรสิสร้อยละ 38.9 มีผู้ป่วยถูกส่งรักษาต่อโรงพยาบาลขอนแก่นทั้งสิ้น 29 ราย คะแนน Modified APACHE II ของกลุ่มทดลอง (7.5 3.6๗ ต่ำกว่าของกลุ่มควบคุม (10 5.3) เป็น 2.5 คะแนน (95% CI:  -1.5 ถึง 6.4, p = 0.28) ไม่พบมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของความเหมาะสมในการส่งต่อผู้ป่วย (กลุ่มทดลองร้อยละ 57 กลุ่มควบคุมร้อยละ 50, p = 0.73) สรุปได้ว่า การใช้  LEPTO-SCORE ในการคัดกรองส่งต่อผู้ป่วยสงสัยโรคเลปโตสไปโรสิสที่โรงพยาบาลชุมชนมีแนวโน้มว่าน่าจะลดความรุนแรงของผู้ป่วยและเอื้อให้เกิดระบบการส่งต่ออย่างเหมาะสมมากขึ้นได้
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2547, January-February ปีที่: 13 ฉบับที่ 1 หน้า 16-26
คำสำคัญ
Severity, LEPTO-SCORE, Leptospirosis, Referral, การส่งต่อ, ความรุนแรง, เลปโตสไปโรสิส