ผลของกายบริหารแบบมณีเวชต่อคุณภาพชีวิตและระดับความดันโลหิตในผู้สูงอายุ
ศรินทร์รัตน์ จิตจำ*, กัญทร ยินเจริญ, วสันต์ หะยียะห์ยา, จินต์สินี วรรณพงค์
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (ไสใหญ่); E-mail: sarinrat.j@rmutsv.ac.th
บทคัดย่อ
 บทนำ: ปัจจุบันสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุย่อมมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านความเสื่อมของร่างกาย และการเจ็บป่วย ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตลดลง จึงควรส่งเสริมการดูแลสุขภาพด้วยกายบริหาร เช่น มณีเวช เพื่อลดปัญหาดังกล่าว
วัตถุประสงค์การวิจัย: เพื่อศึกษาผลของการบริหารร่างกายแบบมณีเวชต่อคุณภาพชีวิตในผู้สูงอายุและเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิตหลังบริหารร่างกายแบบมณีเวชในผู้สูงอายุ
ระเบียบวิธีวิจัย: การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง แบบหนึ่งกลุ่มวัดผลก่อนและหลัง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุ จำนวน 20 คน ฝึกทำท่ากายบริหารแบบมณีเวชร่วมกับการกำหนดลมหายใจ จำนวน 8 ท่าใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที ฝึกทำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เป็นเวลา12 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบประเมินคุณภาพชีวิตของ องค์การอนามัยโลก [โดยย่อแบบฉบับภาษาไทย] และเครื่องวัดความดันโลหิต วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ Paired samples t-test
ผลการวิจัย: พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุเฉลี่ยสูงสุดอยู่ในช่วง 60-64 ปี หลังการทดลอง มีค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้นในด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และคุณภาพชีวิตโดยรวม (p<.05) ด้านสิ่งแวดล้อม (p=0.04) สำหรับคุณภาพชีวิตด้านสังคม มีค่าคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่มีความแตกต่าง (p=0.09) และมีค่าเฉลี่ย ความดันโลหิตทั้งซิสโทลิกและไดแอสโทลิกลดลง (p<.05)
สรุปผล: การบริหารร่างกายแบบมณีเวชร่วมกับการกำหนดลมหายใจมีผลช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นและความดันโลหิต ลดลงในกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุ
ข้อเสนอแนะ: ผู้สูงอายุหรือผู้สนใจสามารถนำท่ากายบริหารแบบมณีเวชร่วมกับการกำหนดลมหายใจมาประยุกต์ใช้ ในการดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นได้ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในการบริหารร่างกาย
 
ที่มา
Journal of Boromarajonani College of Nursing, Bangkok ปี 2565, January-April ปีที่: 38 ฉบับที่ 1 หน้า 186-196
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, ผู้สูงอายุ, Exercise, Blood pressure, Older persons, คุณภาพชี่วิต, Maneevej, ความดันโลหิต, กายบริหาร, มณีเวช