ผลเปรียบเทียบการให้คำแนะนำเรื่องโภชนาการด้วยวิธีแตกต่างกันต่อการเพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสมของนํ้าหนักตัวหญิงตั้งครรภ์ระหว่างไตรมาสสอง: การศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม
สุกัญญา เสรีรัตน์, กิตติพงษ์ คงสมบูรณ์, ธารางรัตน์ หาญประเสริฐพงษ์*Department of Obstetrics and Gynecology, Faculty of Medicine, Srinakharinwirot university, Ongkharak, Nakornnayok, Thailand; E-mail: tharangrut @hotmail.com; tharangrut@gmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบการให้คำแนะนำเรื่องโภชนาการด้วยวิธีที่แตกต่างกัน 2 วิธี (การดูวีดิทัศน์กับแบบตัวต่อตัว) ต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวอย่างเหมาะสมของหญิงตั้งครรภ์สุขภาพดี ระหว่างไตรมาสสอง และแสดงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อระดับการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวของหญิงตั้งครรภ์
วัสดุและวิธีการ: เป็นการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม เปรียบเทียบจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่มีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวอย่างเหมาะสมในการติดตาม 4 สัปดาห์ ระหว่างกลุ่มที่ได้รับคำแนะนำเรื่องโภชนาการด้วยวิธีที่แตกต่างกัน 2 วิธี (การดูวีดิทัศน์กับแบบตัวต่อตัว)
ผลการศึกษา: หญิงตั้งครรภ์ 70 และ 80 คน เข้าร่วมการศึกษา โดยเป็นกลุ่มที่ได้รับคำแนะนำเรื่องโภชนาการด้วยวิธีการดูวีดิทัศน์กับแบบตัวต่อตัว ตามลำดับ ข้อมูลพื้นฐานของหญิงตั้งครรภ์ทั้งสองกลุ่มเหมือนกัน อัตราส่วนของหญิงตั้งครรภ์มีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวอย่างเหมาะสมตามดัชนีมวลกายก่อนการตั้งครรภ์ระหว่างสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่า p เท่ากับ 0.656, 0.307, 0.111, และ 0.524 ในกลุ่มน้ำหนักตัวน้อยเกินไป น้ำหนักตัวปกติ น้ำหนักเกิน และอ้วน ตามลำดับ) จำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่มีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวอย่างเหมาะสม เป็นร้อยละ 50.0, 47.8, 23.1 และ 20.0 ในกลุ่มได้รับคำแนะนำเรื่องโภชนาการด้วยวิธีการดูวีดิทัศน์ และเป็นร้อยละ 37.5, 58.3, 58.3 และ 50.0 สำหรับกลุ่มได้รับคำแนะนำเรื่องโภชนาการแบบตัวต่อตัว จำแนกตามดัชนีมวลกายเป็นกลุ่มน้ำหนักตัวน้อยเกินไป น้ำหนักตัวปกติ น้ำหนักเกิน และอ้วน ตามลำดับ น้ำหนักตัวหญิงตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้นต่อสัปดาห์จำแนกตามระดับดัชนีมวลกายก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่า p เท่ากับ 0.585, 0.292, 0.087 และ 0.614 ในกลุ่มน้ำหนักตัวน้อยเกินไป น้ำหนักตัวปกติ น้ำหนักเกิน และอ้วน ตามลำดับ) หญิงตั้งครรภ์หลายครั้งเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะมี น้ำน้ำหนักเพิ่มระหว่างตั้งครรภ์เหมาะสม (ค่า p เท่ากับ 0.013).
สรุป: การให้คำแนะนำเรื่องโภชนาการด้วยการดูวีดิทัศน์มีความเท่าเทียมกับการให้คำแนะนำแบบตัวต่อตัวที่จะทำให้หญิงตั้งครรภ์มีน้ำหนักเพิ่มระหว่างตั้งครรภ์เหมาะสม ปัจจัยที่มีแนวโน้มว่าน้ำหนักเพิ่มระหว่างตั้งครรภ์เหมาะสมคือ หญิงตั้งครรภ์หลายครั้ง
ที่มา
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2567, July-August
ปีที่: 32 ฉบับที่ 4 หน้า 278-286
คำสำคัญ
Counseling, Computer-assisted instruction, weight gain, nutrition, นํ้าหนักเพิ่ม, โภชนาการ, การให้คำแนะนำ, ดูวีดิทัศน์