ผลของยาฮัยออสซีน-บิวทิลโบรไมด์เพื่อลดเวลาในระยะเร่งของ ระยะที่หนึ่งของการคลอด: การศึกษาแบบสุ่มและปกปิดสองทางเทียบกับยาหลอก
จงรักษ์ คำคง*, มนสิชา พงษ์สมัครไทย, มาลีชาติ ศิริพิพัฒนะกุล, ทุมวดี ตั้งศิริวัฒนา
Department of Obstetrics and Gynecology, Khon Kaen Hospital, Khon Kaen 40000, Thailand; E-mail: Jongruk539@gmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาฮัยออสซีน-บิวทิลโบรไมด์ในการลดเวลาระยะเร่งในระยะที่หนึ่งของการคลอด
วัสดุและวิธีการ: สตรีตั้งครรภ์เดี่ยวที่วางแผนจะคลอดบุตรทางช่องคลอดที่โรงพยาบาลขอนแก่นระหว่างเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ถึง เมษายน พ.ศ. 2566 ได้รับการเชื้อเชิญให้เข้าร่วมวิจัย หลังจากลงนามในหนังสือยินยอมแล้ว จะมีการสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มทดลองจำนวน 61 คนจะได้รับยาฮัยออสซีน-บิวทิลโบรไมด์ปริมาณ 1 มิลลิลิตร (ขนาด 20 มิลลิกรัม) แบบฉีดทางหลอดเลือดดำในขณะที่กลุ่มควบคุมจำนวน 61 คน ได้รับนํ้าเกลือปริมาณ 1 มิลลิลิตร แบบฉีดทางหลอดเลือดดำเมื่อปากมดลูกเปิด 5-6 เซนติเมตร หลังจากนั้นทำการประเมินระยะเร่งของระยะที่หนึ่งของการคลอดและภาวะแทรกซ้อน
ผลการศึกษา: ลักษณะพื้นฐานของประชาการในทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่มฮัยออสซีน -บิวทิลโบรไมด์มีระยะเร่งในระยะที่หนึ่งของการคลอดสั้นกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (88.5 ± 66.7 นาที และ 188.5 ± 101.9 นาที ตามลำดับ) โดยค่าเฉลี่ยแตกต่างกัน -100.02 นาที (95%CI: -130.72 to -69.31, p <0.001) ไม่พบผลกระทบหรือผลข้างเคียงจากยาต่อมารดาและทารกในครรภ์อย่างมีนัยสำคัญ
สรุป: การได้รับฮัยออสซีน-บิวทิลโบรไมด์ทางหลอดเลือดดำสามารถช่วยลดเวลาในระยะเร่งในระยะที่หนึ่งของการคลอดได้
 
ที่มา
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2567, May-June ปีที่: 32 ฉบับที่ 3 หน้า 245-253
คำสำคัญ
Duration of labor, ระยะเวลาคลอด, ระยะที่หนึ่งของการคลอด, first stage of labor, hyoscine butylbromide, ยาฮัยออสซีน-บิวทิลโบรไมด์