การศึกษาแบบสุ่มเปรียบเทียบความเพียงพอของชิ้นเนื้อจากการดูดตัวอย่างเยื่อบุโพรงมดลูกด้วยเครื่องมือดูดสุญญากาศมือถือเทียบกับ Wallach Endocell ในสตรีวัยเจริญพันธุ์และวัยใกล้หมดประจำเดือนที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก
ชญานิศ อภิรักษ์วิริยะ, สมสุข สันติเบญจกุล*, พธู ตัณฑ์ไพโรจน์, นพดล ไชยสิทธิ์, ชินา โอฬารรัตนพันธ์, Nipon Khemapech, สุรสิทธิ์ ชัยทองวงศ์วัฒนา, อรรณพ ใจสำราญ
Department of Obstetrics and Gynecology, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University, Bangkok, Thailand; E-mail: Somsook.S@chula.ac.th
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาอัตราความเพียงพอของชิ้นเนื้อจากการดูดตัวอย่างเยื่อบุโพรงมดลูกด้วยเครื่องมือดูดสุญญากาศมือถือเทียบกับ Wallach Endocell ในสตรีวัยเจริญพันธุ์และวัยใกล้หมดประจำเดือนที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก ในการตรวจแบบผู้ป่วยนอก
วัสดุและวิธีการ: การศึกษานี้เป็นการศึกษาทดลองแบบสุ่มในสตรีวัยเจริญพันธุ์และวัยใกล้หมดประจำเดือนที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกจำนวน 290 คนที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยการดูดชิ้นเนื้อจากเยื่อบุโพรงมดลูก แบ่งกลุ่มโดยการสุ่มตัวอย่าง สตรี 146 คนได้รับการตรวจด้วยเครื่องมือดูดสุญญากาศมือถือและสตรี 144 คน ได้รับการตรวจด้วย Endocell วัตถุประสงค์หลักเพื่อประเมินอัตราความเพียงพอของชิ้นเนื้อในการตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งประเมินโดยพยาธิแพทย์สองคน วัตถุประสงค์รองคือ ปริมาณชิ้นเนื้อที่ได้ อาการปวด ภาวะแทรกซ้อน รวมทั้งความพึงพอใจของผู้ป่วยและแพทย์ผู้ทำหัตถการ
ผลการศึกษา: อายุเฉลี่ยของสตรีที่ได้รับการตรวจด้วยเครื่องมือดูดสุญญากาศมือถือและ Endocell เท่ากับ 42.8 และ 43.6 ปีตามลำดับ อัตราความเพียงพอของชิ้นเนื้อในการตรวจทางพยาธิวิทยาเท่ากับร้อยละ 95.2 และ 95.8 ตามลำดับ สำหรับค่ากลางของปริมาณชิ้นเนื้อที่ได้คือ 2.1 กรัมในกลุ่มที่ตรวจด้วยเครื่องมือดูดสุญญากาศมือถือและ 1.8 กรัมในกลุ่ม Endocell (p = 0.02) อาการปวดที่เกิดจากการตรวจพบมากกว่าในกลุ่มที่ได้รับการตรวจด้วยเครื่องมือดูดสุญญากาศมือถือ (p < 0.01) สำหรับความพึงพอในของผู้ป่วยและแพทย์ผู้ทำหัตถการไม่แตกต่างกัน ภาวะแทรกซ้อนที่พบ ได้แก่ การติดเชื้อ อาการปวดท้อง พบว่าอัตราการเกิดไม่แตกต่างกันในทั้งสองกลุ่ม (1.4% เทียบกับ 2.8%, p = 0.40)
สรุป: ยังไม่พบความแตกต่างในแง่ประสิทธิภาพของวิธีการดูดชิ้นเนื้อจากโพรงมดลูกด้วยเครื่องมือดูดสุญญากาศมือถือและ Endocell ในแง่ความเพียงพอของชิ้นเนื้อในการตรวจทางพยาธิวิทยา เครื่องมือทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพสูงในการเก็บชิ้นเนื้อและมีภาวะแทรกซ้อนต่ำมาก
 
ที่มา
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2567, January-February ปีที่: 32 ฉบับที่ 1 หน้า 22-32
คำสำคัญ
Abnormal uterine bleeding, Endometrial biopsy, manual vacuum aspiration, endocell, เลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก, การดูดตัวอย่างชิ้นเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก, เครื่องมือดูดสุญญากาศ