การศึกษาเปรียบเทียบคะแนนการเข้าเต้า (LATCH score) ในสตรีให้นมบุตรระหว่างการให้นมบุตรโดยใช้หมอนรองให้นมบุตรกับการให้นมบุตรโดยไม่ใช้หมอนรองให้นมบุตร: การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม
ศุภกิจ ศิริกิจขจร, เมสิตา สุขสมานวงศ์*
Department of Obstetrics and Gynecology, Faculty of Medicine, Srinakharinwirot University, 62 Moo 7, Rangsit-Nakhon Nayok Road, Ongkharak, Nakhon Nayok 26120, Thailand; E-mail: maysita078@hotmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบคะแนนการเข้าเต้า (LATCH score) ในสตรีให้นมบุตรระหว่างการใช้หมอนรองให้นมบุตรกับการให้นมโดยไม่ใช้หมอนรองให้นมบุตร
วัสดุและวิธีการ: ทำการศึกษาในกลุ่มสตรีหลังคลอดที่คลอดบุตรทางช่องคลอดที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และไม่มีภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด ซึ่งสตรีที่ตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และไม่มีข้อห้ามในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะถูกแบ่งเป็นสองกลุ่มแบบสุ่ม คือ กลุ่มที่ใช้หมอนรองให้นมในการให้นมบุตร และกลุ่มที่ไม่ใช้หมอนรองให้นม โดยสตรีหลังคลอดทุกรายจะได้รับคำแนะนำและช่วยเหลือในการเข้าเต้า รวมถึงการจัดท่าทางในการให้นมอย่างถูกต้อง คะแนนการเข้าเต้าจะถูกประเมินที่ 48 ชั่วโมงหลังคลอด และคะแนนการเข้าเต้าของทั้งสองกลุ่มจะนำมาเปรียบเทียบทางสถิติ
ผลการศึกษา: สตรีหลังคลอดจำนวน 48 คน ได้รับการแบ่งกลุ่มแบบสุ่มเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 24 คน คือ กลุ่มที่ให้นมโดยใช้หมอนรองให้นมบุตร และกลุ่มที่ไม่ได้ใช้หมอนรองให้นมบุตร พบว่า คะแนนการเข้าเต้าของกลุ่มที่ใช้หมอนรองให้นมบุตรสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีผลต่างของค่าเฉลี่ยของทั้ง 2 กลุ่มเท่ากับ 0.48 (95%Confidence interval 0.06-0.90, p = 0.027).
สรุป: คะแนนการเข้าเต้าของกลุ่มที่ใช้หมอนรองให้นมบุตรสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้หมอนรองให้นมบุตรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
 
ที่มา
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2566, September-October ปีที่: 35 ฉบับที่ 1 หน้า 326-333
คำสำคัญ
latch score, การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, nursing pillow, breastfeeding practices, หมอนรองให้นมบุตร, คะแนนเข้าเต้า