ผลของการประคบด้วยถุงเจลเย็นเพื่อลดระดับความเจ็บปวดหลังผ่าตัดประเมินระยะโรคของมะเร็งนรีเวช การศึกษาแบบสุ่ม
ญาณินท์ ศรีรัศมี*, กิติยา วุฒิเบญจรัศมี, ทุมวดี ตั้งศิริวัฒนา
Department of Obstetrics and Gynecology, Khon Kaen Hospital, Khon Kaen, 40000, Thailand; E-mail: yyyanin.sri@gmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุ ประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของถุงเจลเย็นในการลดระดับความเจ็บปวดของแผลผ่าตัดประเมินระยะโรคของมะเร็งนรีเวช
วัสดุและวิธีการ: ผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ได้รับการผ่าตัดเปิดช่องท้องเพื่อประเมินระยะโรคโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขามะเร็งนรีเวช ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงเดือนพฤษภาคม 2565 โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มโดยการสุ่ม สำหรับกลุ่มทดลองจะได้รับการวางถุงเจลเย็นประคบบริเวณแผลผ่าตัดแนวตั้ง ที่ 6 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด และกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลหลังการผ่าตัดตามมาตรฐานเพียงอย่างเดียว และทำการประเมินระดับความเจ็บปวดของแผลผ่าตัดที่ 2,6 และ12 ชั่วโมง
ผลการศึกษา: ผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 40 คน พบว่าระดับความเจ็บปวดของแผลผ่าตัดที่ 12 ชั่วโมงในกลุ่มที่ได้รับการวางถุงเจลเย็นน้อยกว่ากลุ่มควบคุม แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (4.95 ± 1.67 vs 5.90 ± 1.65, p = 0.08) ระยะเวลาในการผายลมครั้งแรกหลังผ่าตัด การใช้ยาแก้ปวดเพิ่มเติมไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (2,506.50 ± 85.86 vs 2,473.50 ± 189.69 นาที, p = 0.2) และ (11.80 ± 3.37 vs 12.05 ± 3.52 มิลลิกรัม, p = 0.85) และไม่พบภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการใช้ถุงเจลเย็น
สรุป: การใช้ถุงเจลเย็นประคบบริเวณแผลผ่าตัดในผู้ป่วยที่ผ่าตัดประเมินระยะโรคของมะเร็งนรีเวช ไม่ได้ช่วยลดความเจ็บปวดของแผลผ่าตัดที่ 12 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด เมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลหลังผ่าตัดตามมาตรฐาน
 
ที่มา
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2566, July-August ปีที่: 31 ฉบับที่ 4 หน้า 293-301
คำสำคัญ
post-operative pain, ความเจ็บปวดหลังผ่าตัด, cold gel pack, surgical wound pain, complete surgical staging, ถุงเจลเย็น, ความเจ็บปวดของแผลผ่าตัด, ผ่าตัดทางมะเร็งนรีเวช, ผ่าตัดประเมินระยะของโรค