ต้นทุนทางตรงของอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาของผู้ป่วยใน หออายุรกรรมหญิง
พิมพ์ชนก ขันแก้วหล้า*, อัญชลี เพิ่มสุวรรณ
กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลลำพูน
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาต้นทุนทางตรงที่เกิดจากอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาของผู้ป่วยใน หออายุรกรรมหญิง โรงพยาบาลลำพูน จำแนกผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เป็นผู้ป่วยที่เข้านอนรับการรักษาพยาบาลด้วยอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา และกลุ่มที่ 2  เป็นผู้ป่วยที่เข้านอนรับการรักษาพยาบาลจากสาเหตุอื่นและเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาระหว่างการรักษาอาการเจ็บป่วย โดยเก็บข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2543 - 31 กรกฏาคม พ.ศ. 2545  ผลการศึกษาพบว่า  มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาเกิดขึ้นทั้งหมด 137 ครั้ง ในผู้ป่วยทั้งสิ้น 3,830 ราย  พบในผู้ป่วยประเภทที่ 1 จำนวน 69 ครั้ง และประเภทที่ 2 จำนวน 68 ครั้ง  คิดเป็นมูลค่าของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด 256,121 บาท เป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,869.50 บาทต่อครั้งของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครั้งของอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่พบในผู้ป่วยประเภทที่ 1 และ 2 เท่ากับ 2,250.91 และ 1,482.47 บาทต่อครั้ง ตามลำดับ มากกว่าครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เป็นค่าใช้จ่ายเนื่องจากการที่ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้น (144,156 บาท) รองลงมาประมาณร้อยละ30 (78,335 บาท) เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา และค่าใช้จ่ายทางห้องปฏิบัติการในการตรวจสอบเพื่อยืนยันผลของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา มีมูลค่าน้อยที่สุด จำนวน 33,630 บาท อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยามีผลให้ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้น 1.25 วัน ในผู้ป่วยประเภทที่ 2 และวันนอนเฉลี่ยในการพักรักษาพยาบาลอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่เกิดขึ้นเท่ากับ 3.64 วัน ในผู้ป่วยประเภทที่ 1 ผลที่ได้จากการศึกษานี้  สามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูลประกอบในการวางนโยบายอย่างมีประสิทธิผลเพื่อควบคุมหรือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นจากการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
ที่มา
วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล ปี 2549, April ปีที่: ฉบับที่ หน้า