การศึกษาผลของการให้ยา Labetalol ขนาดต่ำเปรียบเทียบกับ Fentanyl ขนาดต่ำในการลดความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจในระหว่างการใส่ท่อช่วยหายใจระหว่างการระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย
ศรีสุดา ไล้ทองคำ*, เสาวนีย์ ชนะพาล
กลุ่มงานวิสััญญีีวิิทยา โรงพยาบาลสวรรค์ประชารัักษ์ จัังหวััดนครสวรรค์ Email: Sri656456@gmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อเปรียบเทียบผลของการใช้ยา Labetalol และ Fentanyl ในขนาดต่ำต่อการลดความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ ระหว่างการใส่ท่อช่วยหายใจในผู้ป่วยที่ได้รับระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย
วิธีการศึกษา : การศึกษาแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุมแบบปกปิดสองทาง (Randomized double-blind controlled trial) ในผู้ป่วยจำนวน 60 คน ที่เข้ารับการผ่าตัดชนิด Elective อายุ 18-65 ปี ASA Physical status class I-II และได้รับการระงับความรู้สึกทั่วร่างกายและใส่ท่อช่วยหายใจในโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่มโดยวิธีสุ่ม กลุ่ม F ได้รับยา Fentanyl 1.5 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม กลุ่ม L ได้รับยา Labetalol 0.15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ที่เวลา 3 และ 5 นาที ก่อนให้การนำสลบตามลำดับ และบันทึกค่าความดันโลหิตและอัตราการเต้นหัวใจ ที่เวลาก่อนและหลังการให้ยานำสลบ และหลังใส่ท่อช่วยหายใจที่เวลา 1, 3, 5, 8, 10 นาที
ผลการศึกษา : ยา Fentanyl ลดความดันโลหิตได้ดีกว่ายา Labetalol หลังใส่ท่อช่วยหายใจที่เวลา 1 นาที (ค่าเฉลี่ยความดันโลหิต กลุ่ม F = 109.1±18.6 mmHg, กลุ่ม L = 119.9±16.6 mmHg, p–value=0.02) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ในการลดอัตราการเต้นของหัวใจหลังจากใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุป : การให้ยา Fentanyl 1.5 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ลดความดันโลหิตหลังจากใส่ท่อช่วยหายใจที่เวลา 1 นาทีได้ดีกว่ายา Labetalol 0.15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
 
ที่มา
Region 3 Medical and Public Health Journal ปี 2566, October-December ปีที่: 20 ฉบับที่ 4 หน้า 210-217
คำสำคัญ
Fentanyl, Labetalol, general anesthesia with endotracheal tube, ระงับความรู้สึกทั่วร่างกายและใส่ท่อช่วยหายใจ