การศึกษาประสิทธิผลการระงับปวดหลังการผ่าตัดของการฉีดยาชารอบเนื้อเยื่อ ข้อเข่าการฉีดยาชารอบเส้นประสาทฟีมอรอล และการฉีดยาชารอบช่องแอดดัคเตอร์สำหรับผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ : การศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม
อันทิกา มั่นต่าย*, จิราภรณ์ พุกซื่อตรง, บุศรา ปู่ดีกลุ่มงานวิิสััญญีีวิิทยา โรงพยาบาลสวรรค์ประชารัักษ์ จัังหวััดนครสวรรค์ Email: aunny2301@yahoo.co.th
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อเปรียบเทียบผลการฉีดยารอบเนื้อเยื่อข้อเข่า การฉีดยาชารอบเส้นประสาทฟีโมรอล และการฉีดยาชารอบช่องแอดดัคเตอร์ต่อการระงับปวดหลังการผ่าตัด ปริมาณยาลดปวดที่ใช้ ระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
วิธีการศึกษาวิจัย : เป็นการศึกษาแบบการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมในผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ที่ได้รับการระงับความรู้สึกโดยการฉีดยาชาร่วมกับมอร์ฟีน 0.2 มก. เข้าช่องน้ำไขสันหลัง โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 ฉีดยารอบเนื้อเยื่อข้อเข่าด้วยยาชา 0.5% ลีโวบิวพิวาเคน 20 มล.คีโตโรคแลค 30 มก.อะดรีนาลีน 1 มก. และ 0.9% นอร์มอลซาไลน์ 28 มล. รวมปริมาณ 50 มล.กลุ่มที่ 2 ฉีดยาชารอบเส้นประสาทฟีโมรอลด้วยยาชา 0.5% ลีโวบิวพิวาเคน 20 มล. และกลุ่มที่ 3 ฉีดยาชารอบช่องแอดดัคเตอร์ด้วยยาชา 0.5% ลีโวบิวพิวาเคน 20 มล.บันทึกข้อมูลทั่วไป ระดับความปวดหลังผ่าตัด ปริมาณยาทรามาดอล ที่ได้รับภายใน 24 ชม. ระยะเวลาเริ่มทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัด ระยะเวลาการนอน โรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการรักษาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ Chi-square test เปรียบเทียบข้อมูลระหว่างวิธีการระงับปวดหลังผ่าตัด3 วิธี ด้วยสถิติ One–way ANOVA, Post Hoc Test (Bonferroni) แสดงผลในรูปแบบค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เกณฑ์ p-value น้อยกว่า 0.05 ถือว่ามีนัยสำคัญทางสถิติ
ผลการศึกษาวิจัย : ผู้ป่วยจำนวน 115 คน แบ่งเป็น กลุ่มฉีดยารอบเนื้อเยื่อข้อเข่า 38 คน กลุ่มฉีดยาชารอบเส้นประสาทฟีโมรอล 39 คน กลุ่มฉีดยาชารอบช่องแอดดัคเตอร์ 38 คน ทั้ง 3 กลุ่มไม่มีความแตกต่างกันในลักษณะข้อมูลทั่วไป โดยพบว่าที่เวลา 72 ชม. หลังการผ่าตัดคะแนนความปวดเฉลี่ยในผู้ป่วยกลุ่มฉีดยารอบเนื้อเยื่อข้อเข่ามีค่าต่ำสุดคือ 3.21 กลุ่มฉีดยาชารอบเส้นประสาท ฟีโมรอลมีค่าเฉลี่ยความปวด คือ 3.72 และกลุ่มฉีดยาชารอบช่องแอดดัคเตอร์มีค่าเฉลี่ยความปวดมากที่สุด คือ 3.82 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p-value=0.002 และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มพบว่าในกลุ่มฉีดยารอบเนื้อเยื่อข้อเข่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มฉีดยาชารอบเส้นประสาทฟีโมรอลและกลุ่มฉีดยาชารอบช่องแอดดัคเตอร์ (p-value=0.015, p-value=0.003) แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มฉีดยาชารอบเส้นประสาทฟีโมรอลกับกลุ่มฉีดยาชารอบช่องแอดดัคเตอร์ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p-value=1.000) ในด้านค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการรักษา พบมากที่สุดในกลุ่มฉีดยาชารอบเส้นประสาทฟีโมรอล รองลงมาเป็นกลุ่มฉีดยาชารอบช่องแอดดัคเตอร์และกลุ่มฉีดยารอบเนื้อเยื่อข้อเข่ามีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (90,894.10, 90,038.29, 87,856.95, p-value=0.000) นอกจากนี้ทั้ง 3 กลุ่มไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเรื่องปริมาณทรามาดอลที่ได้รับและระยะเวลาการนอน โรงพยาบาล
บทสรุป : การฉีดยารอบเนื้อเยื่อข้อเข่า สามารถลดระดับความปวดหลังผ่าตัดที่ 72 ชม. และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ดีกว่าการฉีดยาชารอบเส้นประสาทฟีโมรอล และการฉีดยาชารอบช่องแอดดัคเตอร์
ที่มา
Region 3 Medical and Public Health Journal ปี 2566, October-December
ปีที่: 20 ฉบับที่ 4 หน้า 194-201
คำสำคัญ
Femoral nerve block, Total knee arthroplasty, ยาชาเฉพาะที่, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข้าเทียม, Periarticular infiltration, Adductor canal block, Periarticular infiltration, Local anesthetic drug, การฉีดยารอบเนื้อเยื้อข้อเข่า, การฉีดยารอบเส้นประสาทฟีโมรอล, การฉีดยาชาที่ช่องแอดดัคเตอร์