การใช้ theophylline dosage program ทำนายและปรับขนาดยาให้ผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อน
ดำรงศักดิ์ ฟ้ารุ่งสาง, มาลี โรจน์พิบูลย์สถิตย์, วิบุลย์ วงศ์ภูวรักษ์, สุเพ็ญพร อักษรวงศ์*
กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความแม่นยำของการทำนายขนาดยา theophylline ในผู้ป่วยแต่ละรายที่มีโรคแทรกซ้อน โดยใช้ theophylline dosage program ทำการวัดผลจาก  1) ความแตกต่างของระดับยาในเลือดระหว่างระดับยาที่ได้จากการคำนวณ (Cpredict) กับระดับยาที่วัดได้จริง (Creal)  2) ผลการรักษา  และ 3) อาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา  วิจัยแบบ prospective randomized parallel study โดยทำการศึกษาในผู้ป่วยชาวไทย 72 ราย จำแนกผู้ป่วยโดยวิธีสุ่มแบบสลับเป็น 2 กลุ่ม จำนวนตัวอย่างเท่ากัน ได้แก่ กลุ่มควบคุมซึ่งได้รับการรักษาด้วย theophylline ในขนาดทั่วไปที่แพทย์สั่งจ่าย และกลุ่มศึกษาซึ่ง ได้รับการรักษาด้วย theophylline  โดยเภสัชกรคำนวณขนาด theophylline และเสนอแนะแพทย์ผู้สั่งจ่าย ผลการศึกษาพบว่า ค่าเฉลี่ยของความแตกต่างระหว่างค่าที่ได้จากการทำนายและค่าที่วัดได้จริงแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ( p = 0.682 )  เมื่อเปรียบเทียบระดับ theophylline ในเลือด ผลการรักษา และ อาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ในระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มศึกษา พบว่า ในกลุ่มศึกษา มีจำนวนผู้ป่วยที่มีระดับยาอยู่ในช่วงที่ให้ผลการรักษา  และผู้ป่วยที่ให้ผลในการตอบสนองในการรักษามากกว่ากลุ่มควบคุม   ในทางตรงกันข้าม จำนวนผู้ป่วยที่แสดงอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาในกลุ่มควบคุมมากกว่ากลุ่มศึกษา  จากการศึกษานี้สรุปได้ว่า theophylline dosage program สามารถทำนายและปรับขนาด theophylline ในผู้ป่วยแต่ละรายได้  การใช้  theophylline dosage program ช่วยให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางคลินิก โดย ทำให้ระดับยาถึงระดับที่ให้ผลรักษาเร็วขึ้น และลดจำนวนผู้ป่วยที่มีระดับยานอกระดับที่ให้ผลรักษา ซึ่งช่วยลดอุบัติการณ์ในการเกิดพิษ หรือรักษาไม่ได้ผล  theophylline dosage program จึงมีประโยชน์ในการคำนวณขนาดยาขั้นเริ่มต้น แต่การปรับขนาดยาโดยอาศัยระดับยาในเลือดยังคงเป็นสิ่งจำเป็น 
ที่มา
วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล ปี 2549, February ปีที่: ฉบับที่ หน้า