งานวิจัยแบบสุ่มและมีกลุ่มเปรียบเทียบผลของฟ้าทะลายโจร กับฟาวิพิราเวียร์ ในการรักษาโควิด-19 ที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ
ศิรดา ภูริวัฒนพงศ์*, สันต์ ใจยอดศิลป์, ธรรมรัตน์ บุญสูง, พอ ใจยอดศิลป์, ญาธิป ทิพระษาหาร, คมิก กุลมโนชญ์, เมธี ศรีเจริญ, วศินี เมฆวิฑูร, ชมภูนุช เศรษฐผล, จริยา ทรงรัก, กอบแก้ว บูรพา, วิราวัลย์ ผลจันทร์, ชลภัสสรณ์ เอื้อธนิกานนท์, เจตน์ วันแต่ง
โรงพยาบาลมวกเหล็ก ตำบลมิตรภาพ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี 18180
บทคัดย่อ
บทนำและวัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบ ประสิทธิผลและความปลอดภัยของฟ้าทะลายโจรกับยาฟาวิพิราเวียร์ซึ่งขณะทำวิจัยได้กำหนดเป็นยามาตรฐานที่ใช้รักษาโควิด-19 ในประเทศไทย แตกต่างกันหรือไม่อย่างไรในผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ
วิธีการศึกษา: เป็นการวิจัยแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมเปรียบเทียบ (RCT) โดยคัดเลือกผู้เข้าร่วมวิจัยที่มีอายุระหว่าง 18 ปี ถึงต่ำกว่า 60 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโควิด-19 ด้วยการตรวจ real time PCR test ในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโรงพยาบาลมวกเหล็ก ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2564 ถึง เมษายน 2565 เป็นผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ โดยภาพเอกซเรย์ปอดแรกรับไม่มีปอดอักเสบ จากนั้นนำผู้ป่วยทั้งหมดมาสุ่มตัวอย่างแบบจัดบล็อกเพื่อรับการรักษาที่ต่างกันสามกลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ได้ผงบดจากส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจร (400 มก. ของผงบดในหนึ่งแคปซูล มีแอนโดรกราโฟไลด์ 11.35 มก.) 180 มก.ต่อวัน ติดต่อกัน 5 วัน กลุ่มที่ 2 ได้ผงบดจากเฉพาะส่วนใบของฟ้าทะลายโจร (400 มก. ของผงบดในหนึ่งแคปซูล มีแอนโดรกราโฟไลด์ 24 มก.) 180 มก.ต่อวัน ติดต่อกัน 5 วัน กลุ่มที่ 3 ได้กินยาฟาวิพิราเวียร์ 3,600 มก. ในวันแรก และ 1,600 มก.ต่อวัน ในวันที่ 2-5 ติดตามผู้ป่วยนาน 10 วัน โดยใช้การเปลี่ยนสีบ่งชี้ระดับความรุนแรงของโรค การเกิดปอดอักเสบขึ้นใหม่ และการลดลงของปริมาณไวรัส ในวันที่ 0, 5 และ 10 เป็นผลลัพธ์หลัก
ผลการศึกษา: พบว่าจากผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 231 คนแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ๆ ละ 77 คน เป็นชายร้อยละ 47.2 หญิงร้อยละ 52.8 อายุ 18-58 ปี พบเกิดภาวะปอดอักเสบระหว่างการวิจัยทุกกลุ่มไม่แตกต่างกัน (p = 0.07) เช่นเดียวกับไม่พบการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ตับ AST และ ALT (p = 0.7) การลดลงของปริมาณไวรัสไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ ในวันที่ 10 กลุ่มที่ 1 ไวรัสลดลงเฉลี่ย 3.960 ± 1.354 กลุ่มที่ 2 ลดลงเฉลี่ย 3.943 ± 1.414 กลุ่มที่ 3 ลดลงเฉลี่ย 3.994 ± 1.284 ซึ่งไม่แตกต่างกัน (p = 0.966) และไม่มีการเปลี่ยนสีระดับความรุนแรงทางคลินิก
อภิปรายผล: ประสิทธิผลของการใช้ฟ้าทะลายโจรและยาฟาวิพิราเวียร์ ในการรักษาโรคโควิด-19 ที่มีอาการน้อย ไม่แตกต่างกัน พิจารณาทั้งในแง่ผลการเกิดปอดอักเสบใหม่ และการลดของปริมาณไวรัส จากวันที่1 ,5 และวันที่10 ไม่แตกต่างกันเมื่อเปรียบเทียบทั้ง 3 กลุ่ม และไม่มีการเปลี่ยนระดับความรุนแรงทางคลินิก
ข้อสรุปและข้อเสนอแนะ: ผงบดสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ทั้งจากส่วนเหนือดินและจากเฉพาะส่วนของใบ ให้ผลในการรักษาโรคโควิด-19 ไม่แตกต่างจากยาฟาวิพิราเวียร์  แต่ฟ้าทะลายโจรหาง่ายและมีราคาถูกกว่า งานวิจัยนี้จึงเสนอแนะในการรักษาโรคโควิด-19 ที่มีอาการน้อยควรเลือกใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นยาลำดับแรกเมื่อเทียบกับฟาวิพิราเวียร์
 
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2566, September-December ปีที่: 21 ฉบับที่ 3 หน้า 526-542
คำสำคัญ
Andrographis paniculata, ฟ้าทะลายโจร, Andrographolide, COVID-19, favipiravir, ฟาวิพิราเวียร์, โควิด-19, แอนโดรกราโฟไลด์