การประเมินทางเศรษฐศาสตร์ของการใช้สารสกัดกัญชาชนิดซีบีดีสูงในการรักษาโรคลมชักดื้อยาในเด็ก
อาภาศรี ลุสวัสดิ์*, ปาณิสรา สุดาจันทร์, อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ, ณัฏฐิญา ค้าผล, น้ำฝน ศรีบัณฑิตPediatric Neurology Department, Neurological Institute of Thailand, Rajavithi Road, Ratchathewi, Bangkok, 10400; E-mail: lusawat@hotmail.com
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: โรคลมชักดื้อยาหมายถึง โรคลมชักที่รักษาด้วยยากันชัก 2 ตัวแล้วไม่สามารถหยุดชักได้ ซึ่งพบประมาณร้อยละ 30 ในผู้ป่วยโรคลมชัก ถึงแม้ว่าสารสกัดกัญชาจะมีหลักฐานว่ามีประสิทธิผลในการลดชักในผู้ป่วยโรคลมชักดื้อยาในเด็ก แต่ความคุ่มค่าของสารสกัดกัญชานี้ยังไม่ชัดเจน
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินความคุ้มค่าของสารสกัดกัญชาชนิดซีบีดีสูงในโรคลมชักดื้อยาในเด็ก
วิธีการ: วิเคราะห์ต้นทุน-อรรถประโยชน์ โดยการใช้แบบจำลองมาร์คอฟด้วยมุมมองทางสังคมแบบจำลองถูกพัฒนาเพื่อเปรียบเทียบต้นทุนและปีสุขภาวะ (QALYs) ของการใช้สารสกัดกัญชาชนิดซีบีดีสูงร่วมกับยากันชักกับการรักษาด้วยยากันชักปกติในโรคลมชักดื้อยาในเด็กข้อมูลต้นทุนเก็บรวบรวมจากสถาบันประสาทวิทยาความน่าจะเป็นของการตอบสนองทางคลินิกและค่าอรรถประโยชน์ได้จากการทบทวนวรรณกรรม ประเมินความคุ้มค่าโดยใช้อัตราส่วนต้นทุนและประสิทธิผลส่วนเพิ่มในมูลค่าเงินของปี พ.ศ. 2563 วิเคราะห์ความไม่แน่นอนทางเดียวของตัวแปรและด้วยวิธีอาศัยความน่าจะเป็น
ผล: ค่าใช้จ่ายทั้งหมดและ QALYs ของกลุ่มที่ใช้สารสกัดกัญชาเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ คือ 3,178,112 บาทกับ 3,027,659 บาทและ21.88 กับ 21.07 ปีสุขภาวะตามลำดับ อัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม (ICER) คือ 187,108 บาท/QALY การวิเคราะห์ความไม่แน่นอนทางเดียวของตัวแปรพบว่าตัวแปรที่มีความไวและมีผลมากที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลง ICER 3 ลำดับแรก คือ ค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์ของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ของภาวะชักต่อเนื่อง ความน่าจะเป็นของการเปลี่ยนสถานะสุขภาพจากหยุดชักเป็นไม่ตอบสนอง
(relapse) และ ค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์ชองการหยุดชักของกลุ่มสารสกัดกัญชาชนิดซีบีดีสูงเทียบกับยากันชักปกติตามลำดับ เมื่อวิเคราะห์ราคายาที่ทำให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เพิ่มเติมโดยการคำนวณราคาของสารสกัดกัญชาชนิดซีบีดีสูงที่เหมาะสมกับความเต็มใจจ่าย 160,000 บาท พบว่าหากราคาของสารสกัดกัญชาซีบีดีสูงลดลงเหลือ 1,630 บาทต่อ 1,000 มิลลิกรัม (ลดลงร้อยละ 14.2) จะทำให้การใช้สารสกัดกัญชาชนิดซีบีดีสูงในการรักษาโรคลมชักดื้อยาในเด็กมีความคุ้มค่า ซึ่งจะสามารถลดภาระงบประมาณของประเทศได้อีกด้วย
สรุป: สารสกัดกัญชาชนิดซีบีดีสูงไม่คุ้มค่าในการรักษาโรคลมชักดื้อยาในเด็กแต่ถ้าลดราคาลงร้อยละ 14.2
จะทำให้เพิ่มโอกาสคุ้มค่าได้
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2566, April-June
ปีที่: 48 ฉบับที่ 2 หน้า 118-127
คำสำคัญ
Cost-effectiveness analysis, การประเมินทางเศรษฐศาสตร์, Pediatric drug-resistant epilepsy, CBD-enriched, การรักษาโรคลมชักดื้อยาในเด็ก, สารสกัดกัญชาชนิดซีบีดี