ผลของการบริโภคผงซูเปอร์ฟู้ดออร์แกนิคต่อความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในผู้มีน้ำหนักเกินและอ้วนร่วมกับมีไขมันในเลือดผิดปกติ
ฉัตรภา หัตถโกศล*, สุวิมล ทรัพย์วโรบล, มนีรัตน์ เตชะวิเชียร, ญาณิศา ทับเจริญ, ศิริกัญญา ลับแล
ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
น้ำหนักเกินและโรคอ้วนทำให้เสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซูเปอร์ฟู้ดเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารพฤกษเคมีที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการบริโภคเครื่องดื่มผงซูเปอร์ฟู้ด 5 สูตรต่อการเปลี่ยนแปลงค่าความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในเลือด เป็นการศึกษาวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุมแบบคู่ขนานในผู้ที่มีน้ำหนักเกินและอ้วนร่วมกับมีไขมันในเลือดผิดปกติจำนวน 89 คน สุ่มเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มเปรียบเทียบไม่ได้รับซูเปอร์ฟู้ด กลุ่มทดลอง 5 กลุ่มได้รับซูเปอร์ฟู้ดสูตร 1: คามูคามูอาซาอิเบอรี่ มากิเบอรี่ 10 กรัม สูตร 2: ผักรวมผสมเมล็ดเจียกับถั่วดาวอินคา 15 กรัม สูตร 3: เบอรี่รวมผสมเมล็ดเจีย 15 กรัม สูตร 4: อาซาอิเบอรี่5 กรัม และสูตร 5: อาซาอิเบอรี่ 10 กรัม บริโภควันละ 1 ซอง ผสมกับน้ำเปล่า 200-250 มิลลิลิตร ดื่มหลังตื่นนอนตอนเช้าเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ประเมินผลโดยการตรวจค่าความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในเลือดด้วยวิธี Oxygen radical absorbance capacity (ORAC) และ Ferricreducing antioxidant power (FRAP) ในสัปดาห์ที่ 0 และ 6 วิเคราะห์ความแตกต่างภายในกลุ่มด้วย Paired t-test และ Wilcoxon signed rank test และระหว่างกลุ่มด้วย One way ANOVA และ Kruskal-Wallis test ผลการศึกษาพบว่าหลังการทดลองกลุ่มทดลองทั้ง 5 กลุ่ม มีค่า ORAC และ FRAP เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p-value <0.05 ส่วนกลุ่มเปรียบเทียบไม่เปลี่ยนแปลง เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มหลังการทดลองพบกลุ่มทดลองมีค่า ORAC และ FRAP สูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p-value <0.05 ดังนั้นการบริโภคซูเปอร์ฟู้ดออร์แกนิคสามารถเพิ่มค่าความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในเลือด
 
ที่มา
Thai Journal of Public Health and Health Scicences ปี 2565, January-April ปีที่: 5 ฉบับที่ 1 หน้า 172-185
คำสำคัญ
Antioxidant Capacity, superfood, overweight and obese adults, ซูเปอร์ฟู้ด, ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ, ผู้มีน้ำหนักเกินและอ้วน