การศึกษาผลของยาสไปโรโนแลคโตนในการป้องกันการสะสมของผลึกแคลเซียมฟอสเฟตในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง
พีรภัทร ธนาพงศธร*, โสฬส จาตุรพิศาลนุกูล, ต่อพงศ์ คล้ายมนต์, สุรสีห์ พร้อมมูลภาควิชาอายุรศาสตร์ สถาบันโรคทรวงอก นนทบุรี ประเทศไทย อีเมล: peerapat.manu@gmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของยาสไปโรโนแลคโตนในการป้องกันการสะสมของผลึกแคลเซียมฟอสเฟต และความปลอดภัยในการใช้ยาในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง
วิธีดำเนินการวิจัย: การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมโดยใช้ยาหลอกระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ประเทศไทย สุ่มผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มได้รับยาสไปโรโนแลคโตน 25 มิลลิกรัมต่อวัน และกลุ่มได้รับยาหลอก เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยทั้ง 2 กลุ่มได้รับการตรวจวัดระดับแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (coronary artery calcium scores) และตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับระบบแคลเซียมและหลอดเลือด ก่อนเริ่มการวิจัยและหลังเข้ารับการวิจัย
ผลการวิจัย: ผู้ป่วยทั้งหมด 40 คน โดยที่ผู้ป่วย 34 คน จบการศึกษา (ได้รับยาสไปโรโนแลคโตน 17 คน และได้รับยาหลอก 17 คน) โดยรวมทั้งสองกลุ่มมีลักษณะข้อมูลพื้นฐานใกล้เคียงกัน ผลการศึกษาพบว่าการได้รับยาสไปโรโนแลคโตนช่วยลดระดับแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จาก 169.97 AU (2.34 - 1146.29) เหลือ 92.29 AU ค่า (2.34 - 1146.29) ค่านัยสำคัญทางสถิติ 0.05 นอกจากนี้กลุ่มได้รับยาสไปโรโนแลคโตนยังสามารถลดร้อยละการเปลี่ยนแปลงของระดับแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ได้มากกว่ากลุ่มยาหลอกร้อยละ 0 (-47.1-14.7) เทียบกับร้อยละ 6.06 (-1.9-40.8) ในกลุ่มยาหลอก (ค่านัยสำคัญทางสถิติ 0.075) ส่วนผลต่างการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มยาสไปโรโนแลคโตนได้ 0 AU เทียบกับ 6.14 AU ในกลุ่มยาหลอก (ค่านัยสำคัญทางสถิติ 0.143) ค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงของผลเลือดทางห้องปฏิบัติการพบว่าการได้รับยาสไปโรโนแลคโตนสามารถลดระดับฟอสฟอรัสในเลือดและระดับ osteocalcin ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยที่ผลข้างเคียงไม่พบภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงและความดันโลหิตต่ำทั้ง 2 กลุ่ม
สรุป : การใช้ยาสไปโรโนแลคโตนมีแนวโน้มสามารถป้องกันการสะสมของผลึกแคลเซียมฟอสเฟตได้ในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องได้ ผู้ศึกษาเสนอแนะให้มีการศึกษาในอนาคตเพื่อดูผลในระยะยาว เพิ่มตัวอย่าง และพิจารณาเพิ่มขนาดยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของยา
ที่มา
Vajira Medical Journal: Journal of Urban Medicine ปี 2565, November-December
ปีที่: 66 ฉบับที่ 6 หน้า 415-426
คำสำคัญ
Peritoneal dialysis, spironolactone, การล้างไตทางช่องท้อง, coronary artery calcium score, vascular calcification, การตรวจวัดระดับแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์, ภาวะชั้นหินปูนในผนังหลอดเลือด, สไปโรโนแลคโตน