การเปรียบเทียบประสิทธิผลของการขยับข้อต่อกระดูกสันหลังในทิศทางการหมุนและการกดจากทิศทางด้านหลังไปด้านหน้าบนข้อต่อของกระดูกสันหลังส่วนเอวในการรักษาผู้มีอาการปวดหลังส่วนล่างแบบไม่จำเพาะเจาะจง
นลินี อิสเสงี่ยม*, อัครเดช ศิริพร, อดิษฐ์ จิรเดชนันท์
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทคัดย่อ
อาการปวดหลังส่วนล่างแบบไม่จำเพาะเจาะจง (NSLBP) เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดในบุคคลที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง การขยับข้อต่อเป็นวิธีการหนึ่งที่นิยมใช้ในการรักษาผู้ที่มีอาการ NSLBP เทคนิคที่แนะนำให้ใช้ในการรักษาผู้ที่มีอาการ NSLBP แบบสองด้าน คือ การขยับข้อต่อกระดูกสันหลังในทิศทางการหมุน (rotation) และการกดจากทิศทางด้านหลังไปด้านหน้า (central PA) บนข้อต่อของกระดูกสันหลังส่วนเอว เพื่อนำข้อมูลมาคำนวณหาขนาดกลุ่มตัวอย่างที่เหมาะสม และเปรียบเทียบประสิทธิผลของสองเทคนิคนี้ วิธีการวิจัย ผู้ที่มีอาการ NSLBP แบบสองด้านที่เข้าร่วม จำนวน 20 คน โดยสุ่มเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่ม central PA และกลุ่ม rotation ทำการวัดอาการปวด และช่วงการเคลื่อนไหวของหลัง ในช่วงก่อนการรักษา หลังการรักษาแบบหลอก หลังการรักษาด้วยการขยับข้อต่อทันที และหลังการรักษา 48 ชั่วโมง ผลการศึกษาพบว่า ทั้งสองกลุ่มมีอาการปวดหลังลดลง และช่วงการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น (p<0.05) กลุ่ม central PA สามารถเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวในทิศทางการเอียงลำตัวไปทางซ้ายในช่วงหลังการขยับข้อต่อทันทีได้ดีมากกว่ากลุ่ม rotation อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05)
 
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2565, November-December ปีที่: 31 ฉบับที่ 6 หน้า 1042-1050
คำสำคัญ
Low back pain, Mobilization, ปวดหลัง, lumbar range of motion, การขยับข้อต่อ, ช่วงการเคลื่อนไหวของหลัง