การเปรียบเทียบผลการให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วยระหว่างการทำผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูงและใส่เลนส์ตาเทียม: การทดลองทางคลินิกแบบสุ่ม
ปิยะวรรณ กุลปภังกร, พริมา หิรัญวิวัฒน์กุล, มาเรียม เอี่ยมสุคนธ์, วสี ดุลวรรธนะ*Department of Ophthalmology, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University, 1873 Rama IV Rd, Patumwan, Bangkok 10330, Thailand. Phone: 0-2256-4142, 0-2256-4424, Fax: 0-2252-8290, E-mail: wasee.t@chula.ac.th
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดและความสบายของผู้ป่วยที่ ได้รับการผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูงและใส่เลนส์ตาเทียม เปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยที่ ได้รับและไม่ได้รับออกซิเจนภายใต้ผ้าคลุมผ่าตัดสถานที่ศึกษา: โรงเรียนแพทย์วัสดุและวิธีการ: การศึกษาทดลองทางคลินิกแบบสุ่ม มีการปกปิดทั้งผู้ป่วย ผู้ทำการศึกษา และผู้วัดผล โดยมีผู้ป่วยเข้าร่วมการศึกษา 80 คนที่ได้ นัดผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูงและใส่เลนส์ ตาเทียม ภายใต้การระงับความรู้สึกโดยหยอดยาชาหรือฉีดยาชาใต้ เยื่อบุตา แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่มโดยการสุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้รับออกซิเจน 100% 5 ลิตร ต่อนาที ผ่านท่อที่ติดกับหน้าอกของผู้ป่วย กลุ่มที่ 2 มีท่อออกซิเจนติดที่หน้าอกแต่ไม่ได้รับออกซิเจน การจัดกลุ่มของผู้ป่วยจะถูกปกปิดไม่ให้ผู้ป่วย แพทย์ผู้ผ่าตัด และผู้ประเมินผลทราบ บันทึกความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดทุก 10 นาที และผู้ป่วยจะประเมินความสบายภายใน 15 นาทีหลังผ่าตัดเสร็จผลการศึกษา: ในกลุ่ม 1 (จำนวน 37 คน) อายุเฉลี่ย 68.2 ± 10.5 ปี และ เวลาการผ่าตัดเฉลี่ย 29.4 ± 7.2 นาที ในกลุ่ม 2 (จำนวน 43 คน) อายุเฉลี่ย 66.9 ± 10.6 ปี และ เวลาการผ่าตัดเฉลี่ย 27.2 ± 6.3 นาที ผู้ป่วยทั้งหมด มีระดับความอิ่มตัว 97.3-100% ตลอดการศึกษา ความแตกต่างของระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดเฉลี่ยในทั้งสองกลุ่ม มีค่าความเชื่อมั่นที่ระดับ 99% ณ เวลา 10, 20 และ 30 นาทีหลังการคลุมผ้าอยู่ระหว่าง -1.60 ถึง 0.17%, -1.63 ถึง 0.05% และ -2.37 ถึง 0.74% ตามลำดับ คะแนนของความสบายอยู่ในระดับ 84.9% ในกลุ่ม 1 และ 89.8% ในกลุ่ม 2สรุป: ระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดของผู้ป่วยขณะที่ได้รับการผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูงและใส่เลนส์ตาเทียมในกลุ่มที่ได้รับ หรือไม่ได้รับออกซิเจนใต้ผ้าคลุม ไม่มีความแตกต่างกัน ความสบายของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้นการให้ออกซิเจนใต้ผ้าคลุมด้วยวิธีที่ปฏิบัติอาจไม่มี ความจำเป็นในระหว่างผ่าตัดชนิดนี้ในกรณีที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2549, March
ปีที่: 89 ฉบับที่ 3 หน้า 343-349
คำสำคัญ
cataract, Phacoemulsification, Linen drape, Oxygenation